ข้าราชการที่มีบำนาญ จำเป็นต้องวางแผนเกษียณอีกหรือไม่ ?
06/05/20183 สิ่งที่ต้องเจอ… ตลอดเส้นทางการวางแผนการเงิน
27/08/2018ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาบริษัทส่งผมไปดูงานที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียมาครับ (แหะๆ ล้อเล่นครับ 😛 เขาส่งไปเสิร์ฟอาหาร และบริการผู้โดยสารบนเครื่องบินต่างหาก พอถึงที่หมายแล้วก็จะมีเวลาให้พักร่างเล็กน้อยตามที่กฏการบินกำหนด แล้วก็ต้องทำงานดูแลผู้โดยสารขากลับเข้ากรุงเทพฯ ต่อครับ)
ช่วงที่ได้พักที่โน่น ก็พอมีเวลาออกไปเดินเล่นดูผู้คน และบ้านเมืองของเขามาบ้าง เห็นแล้วก็เพลินๆ ดีครับ บ้านเมืองสะอาด เป็นระเบียบ ผู้คนดูสุขภาพดี และมีความสุข เห็นแล้วก็นึกย้อนถึงบ้านเรา ว่าอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบนี้บ้าง…
เดินไปก็คิดไป ทำไมเขาถึงมีอะไรแบบนี้ได้นะ ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่าเคยดูสกู๊ปข่าวของไทยรัฐทีวี เมื่อปีก่อนๆ เรื่องความเป็น “รัฐสวัสดิการ” ของประเทศแถบนี้ ว่าแล้วก็มาเปิด YouTube เรื่องนี้ ดูย้อนหลังเสียหน่อย ได้ความดังนี้ครับ
ประเทศในแถบสแกนฯ ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์ 4 ด้านคือ
- การศึกษา ให้การศึกษาฟรีขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และมีเงินอุดหนุนให้สำหรับคนที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
- การรักษาพยาบาล
- การช่วยเหลือผู้ว่างงาน และ ผู้เกษียณอายุ เช่น ประเทศเดนมาร์ก มีเงินช่วยเหลือระหว่างหางาน ให้แก่ผู้ว่างงานเป็นเวลา 2 ปี ในขณะที่ประเทศสวีเดนให้ 200 วัน รวมถึงกรณีพิการ หรือ กำพร้าด้วย
- การบริการสังคม เช่นประเทศสวีเดน ให้สิทธิ์ทั้งพ่อและแม่สามารถลางาน เพื่อดูแลลูกได้ถึง 480 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง
ฟังแบบนี้แล้ว “ตาร้อน” คิดอยากเกิดเป็นชาวสแกนฯ ขึ้นมาทันทีเลย แต่เดี๋ยวครับ ไทยรัฐทีวีเล่าต่อไปว่า ที่มาของสวัสดิการอันน่าอิจฉานี้ เกิดมาจากการจัดเก็บภาษีที่สูงมากของประเทศเหล่านั้น ซึ่งระดับฐานภาษีเงินได้สูงสุดของพวกเขาคือ 46-62% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 24-26% ฟังถึงตรงนี้ปุ๊บ อุณหภูมิในตาผมที่ร้อนฉ่าอยู่นั้น ก็พลันลดลงทันที
พอได้สติก็เลยมาคิดต่อว่า แม้บ้านเมืองเรายังไม่มีสวัสดิการรัฐที่ครอบคลุมมากขนาดนั้น แต่เราก็ไม่ได้ถูกเก็บภาษีหนักขนาดนั้นเหมือนกันนี่นา (ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้สูงสุด 35% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย. 61) อีกทั้งค่าครองชีพบ้านเราก็ถูกกว่าตั้งเยอะ (Big Mac บ้านเราชิ้นละ 123 บ. ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์ ชิ้นละ 49 KRONER หรือ 194 บ.) ดังนั้น เราสามารถใช้ความได้เปรียบเรื่องนี้ มาสร้างสวัสดิการดีๆ ด้วยตนเอง เช่น
- กรณีเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน เราก็เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเสียให้เหมาะสม อย่างน้อยๆ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือน ไม่ต้องถึงขนาด 2 ปี อย่างประเทศเดนมาร์กหรอกครับ เอาให้ระยะเวลาเพียงพอ ที่เราจะหางานใหม่ได้ก็โอเคแล้ว
- กรณีลาเลี้ยงลูก บ้านเรานายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้เต็ม 45 วัน และประกันสังคมช่วยจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่งของเงินเดือน (ซึ่งคิดเงินเดือนในอัตราสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) ไปอีก 45 วัน ถ้าอยากอยู่บ้านเลี้ยงลูกนานกว่านั้น ก็ต้องเตรียมเงินสำรองไว้เผื่อเองนะครับ ลองคำนวนดูว่าอยากอยู่เลี้ยงดูลูกแบบเต็มๆ กี่วัน กี่เดือน ก็สำรองเงินเผื่อไว้ครับ
- การรักษาพยาบาล ถ้าเรารับกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานของไทยได้ ก็มีทั้งบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองหรือชื่อเดิม 30 บาทรักษาทุกโรค) และ ประกันสังคม รองรับอยู่ไม่ต้องห่วงครับ แต่หากพอจะไหวก็ทำประกันสุขภาพที่เน้นความคุ้มครองไว้ด้วยก็จะดี
- การเกษียณอายุ ก็วางแผนให้ดีครับว่า ณ ปลายทางต้องใช้เงินเท่าไร แล้วคำนวณย้อนกลับมาว่าต้องเก็บต่อเดือน ต่อปีเท่าไร ในสินทรัพย์ประเภทไหน จากนั้นก็ใช้เครื่องมือทุ่นแรงในการออมและลงทุนของบ้านเรา ทั้งประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สหกรณ์ออมทรัพย์ ประกันชีวิต ประกันบำนาญ และเครื่องมืออื่นๆ ให้เต็มที่ ซึ่งบ้านเรามีช่องทางการออมเยอะมากจริงๆ ครับ และหลายๆ ช่องทางรัฐก็ส่งเสริมโดยให้สิทธิ์นำเงินที่ออมไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีก
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะบ่นว่า โห…หนักอ่ะ โน่นก็ต้องเก็บเงิน นี่ก็ต้องเก็บเงิน เงินก็เหลือให้ใช้ได้นิดเดียวเอง ซึ่งมันก็จริงนะครับ
แต่ผมคิดๆ ดูแล้ว มันก็เป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี ในแบบที่เราออกแบบได้เอง เพราะถึงแม้รัฐบาลเราจะสามารถให้สวัสดิการดีๆ ได้แบบประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ก็ต้องแลกกับการจ่ายภาษีที่แพงขึ้นมากอยู่ดี และสวัสดิการที่ได้นั้น ก็อาจเลือกไม่ได้ด้วยว่าจะเป็นแบบไหน ดังนั้นสำหรับผมขอเลือกดูแลตัวเองให้ดีตามสมควร ดีกว่ารอรับความช่วยเหลือจะดีกว่าครับ
จะทำทั้งหมดนี้ได้ ก็อาจต้องใช้ความขวนขวายเพิ่มเติมในการเรียนรู้ที่จะจัดการ ผมแนะนำให้ศึกษาด้วยตนเองแบบฟรีๆ ได้ที่ A-Academy ที่เน้นให้ความรู้แบบฟรีๆ ใสๆ ทำได้จริงด้วยตนเอง ความรู้กว่า 90% ของผมก็มาจากแหล่งนี้ทั้งนั้น ลองเริ่มศึกษาตามลำดับใน หน้านี้ ก็ได้ครับ พี่เอเค้าจัดลำดับไว้แล้ว
หรือถ้าคิดว่าต้องการผู้ช่วยในการจัดการเงิน จะใช้บริการกับผมหรือนักวางแผนการเงินท่านอื่นในทีม Avenger Planner ก็ได้เช่นกันนะครับ แม้คิวปัจจุบันอาจรอนานหน่อย แต่เมื่อถึงคิว พวกเราก็พร้อมจะดูแลให้คำปรึกษาทุกท่านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทำแผนครั้งแรก ช่วยแนะนำในการลงมือทำตามแผน ตามด้วยการทบทวนและปรับปรุงแผนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมาย หรือไม่ก็จนกว่าท่านจะยืนเองได้ ไม่ต้องการที่ปรึกษาแล้ว พวกผมก็พร้อมจะถอนตัวออกมา (อย่างตาปริบๆ) ครับ
สุดท้ายนี้ ผมก็ขออวยพรให้ทุกๆ คนมีชีวิตที่ดี ที่ออกแบบได้ด้วยตนเองกันนะครับ