Start with Why : ทำไมเราถึงมาเป็นนักวางแผนการเงินทีมนี้
14/03/2018ข้าราชการที่มีบำนาญ จำเป็นต้องวางแผนเกษียณอีกหรือไม่ ?
06/05/2018งานหน้าบ้านของนักวางแผนการเงิน
ท่านผู้อ่านที่เคยได้ยิน คำว่า นักวางแผนการเงิน หรือได้มีโอกาสใช้บริการนักวางแผนการเงิน ก็คงพอจะทราบว่า หน้าที่หลักของนักวางแผนการเงิน คือ การให้คำแนะนำที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ที่มีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อนำพาผู้รับคำปรึกษาไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ เช่น การบริหารรายรับ – รายจ่าย การบริหารหนี้สิน การวางแผนคุ้มครองความเสี่ยงที่ควรมี รวมถึงการวางแผนการลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ…
โดยแผนการเงินที่ดีนั้น ต้องจัดทำโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้รับคำปรึกษาแต่ละรายด้วย
หากพิจารณาจากข้อความด้านบน จะเห็นว่า แผนการเงินของผู้รับคำปรึกษาหนึ่งคนนั้น กว่าจะได้มา นักวางแผนการเงิน ต้องใช้ทักษะต่างๆ อย่างมาก อาทิ
- ทักษะการสื่อสาร เช่น การติดต่อ พูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล และรับทราบ ความต้องการที่แท้จริงของผู้รับคำปรึกษา
- ทักษะการเข้าสังคม เช่น การวางตัวที่เหมาะสมทั้งต่อหน้า ลับหลัง การแสดงออกอย่างเป็นมิตร เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกผ่อนคลาย และสะดวกใจที่จะเล่าความต้องการหรือปัญหาที่แท้จริงของตนอย่างเต็มที่
- ทักษะด้านความรู้ ซึ่งเป็นแก่นของการให้คำแนะนำทางการเงิน โดยรวมถึงความหนักแน่น และความมั่นใจในตนเองด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจให้กับผู้รับคำปรึกษา
ทักษะเหล่านี้ เป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สำหรับนำไปวิเคราะห์และจัดทำแผน และในส่วนของความสัมพันธ์นั้น ก็มีโอกาสพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยิ่งขึ้นในภายหลัง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ผมเรียกว่าเป็น “งานหน้าบ้านของนักวางแผนการเงิน”
งานหลังบ้านของนักวางแผนการเงิน
เมื่อนักวางแผนการเงินได้วิเคราะห์และจัดทำแผน และนำแผนการเงินที่ได้นั้น เสนอให้กับผู้รับคำปรึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระบวนการในการวางแผนการเงิน ก็น่าจะ “จบ” ลงแค่นี้ ?
ใช่ครับ… จบ แต่เป็นการจบในส่วนของแผนการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือให้กับผู้รับคำปรึกษานำไปปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้รับคำปรึกษาจะสามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ อย่าลืมนะครับว่า…
แผนการเงินที่ดีนั้น คือ แผนการเงินที่ผู้รับคำปรึกษา สามารถปฏิบัติตามได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้ผู้รับปรึกษาปฏิบัติตามแผนได้ นักวางแผนการเงินจะต้องคอยติดตามว่า ผู้รับคำปรึกษาได้ทำตามแผนที่ตกลงร่วมกันหรือไม่ และในบางแผน อาจมีขั้นตอนอีกหลายอย่าง ที่นักวางแผนการเงินต้องคอยช่วยผู้รับคำปรึกษาในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนนั้นดำเนินการได้ ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ผมเรียกว่า “งานหลังบ้าน ของนักวางแผนการเงิน”
งานหลังบ้านของนักวางแผนการเงิน จากประสบการณ์ร่วมปีกว่าๆ ของผม พบว่ามีงานหลังบ้านที่สำคัญ และต้องทำอยู่เสมอ 3 งานด้วยกัน ได้แก่
1. งานเอกสาร
แน่นอนครับ หลังจากที่ได้แผนการเงินเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แผนต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้ เช่น แผนประกัน แผนการลงทุน นักวางแผนการเงินอาจต้องเตรียมเอกสาร ต่างๆ ให้ผู้รับคำปรึกษาด้วย เช่น
- เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อการลงทุน
- เอกสารประกอบในการทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพ
- เอกสารสำเนาต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการทำธุรกรรมของผู้รับคำปรึกษา ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบันการเงิน
ซึ่งงานเอกสารสำหรับผม ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ ความละเอียดรอบคอบเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของจำนวนเอกสารที่ต้องเตรียม และเรื่องการกรอกข้อมูลในเอกสารที่ต้องถูกต้อง และครบถ้วน เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งก็มักจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันพอสมควร ทำให้งานที่ดูเหมือนง่ายกลายเป็นความซับซ้อนได้พอตัว ดังนั้น ถ้านักวางแผนการเงินไม่ละเอียดรอบคอบพอ ก็อาจทำให้เสียเวลาในการติดต่อผู้รับคำปรึกษา เพื่อขอหรือแก้ไขเอกสารเพิ่มเติมกลับไปกลับมาหลายรอบ
สำหรับงานเอกสารนั้น เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ของผมก็คือ…
- ศึกษารายละเอียดของการเตรียมเอกสารต่างๆ สำหรับเรื่องที่ต้องดำเนินการ ให้พร้อมและเข้าใจที่สุด โดยอาจทำเป็น Check-List เพื่อใช้ตรวจสอบ
- กรณีที่เอกสารนั้นๆ มีกฎเกณฑ์ในการกรอกที่ซับซ้อน อาจมีตัวอย่างวิธีการกรอกส่งให้กับผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับคำปรึกษาสามารถกรอกข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
- หากไม่ได้ไปรับเอกสารด้วยตนเอง (เช่น ให้ Messenger ไปรับ หรือจัดส่งทางไปรษณีย์) เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารครบถ้วนและกรอกข้อมูลถูกต้อง อาจจะรบกวนให้ผู้รับคำปรึกษาถ่ายรูป หรือสแกนเอกสาร ส่งมาให้ดูในเบื้องต้นก่อน ผ่านช่องทางที่ตกลงกันไว้ เช่นทางอีเมล์ หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ
2. งานให้คำปรึกษาภายหลังจากที่ได้นำเสนอแผนการเงินเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งผมเรียกว่า “งานหลังไมค์” งานส่วนนี้ ผมถือว่าเป็น ส่วนสำคัญที่สุด ในงานหลังบ้านของนักวางแผนการเงิน เพราะเป็นการสร้างความเชื่อใจ และความสัมพันธ์ระยะยาวร่วมกัน ระหว่างนักวางแผนการเงินและผู้รับคำปรึกษา เนื่องจากแผนการเงินส่วนใหญ่นั้น ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะเดินไปถึงเป้าหมาย เช่น แผนเกษียณ (ซึ่งเป็นแผนที่ทาง Avenger Planner ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของแผนการเงินส่วนบุคคล)
ดังนั้น ถ้านักวางแผนการเงิน ให้บริการในส่วนนี้ไม่ดีพอ ก็อาจทำให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความไม่มั่นใจ ว่านักวางแผนการเงินจะเป็นเพื่อนร่วมทางและพาผู้รับคำปรึกษาไปถึงยังเป้าหมายได้หรือไม่ ซึ่งสำหรับผม ทักษะที่ต้องมีเพื่อทำงานหลังไมค์นี้ให้ได้ดี คือ ความพร้อมที่จะดูแล และให้บริการอย่างเต็มใจ
นักวางแผนการเงินควรต้องคอยแจ้งสถานะ และรายละเอียดต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ให้ผู้รับคำปรึกษาทราบ เช่น
- การเปิดบัญชีกองทุน ตอนนี้ดำเนินถึงขั้นตอนใด ติดปัญหาอะไรหรือไม่ และจะเสร็จเมื่อใด
- การตัดเงินลงทุนอัตโนมัติผ่านธนาคาร จะเริ่มตัดเดือนไหน วันที่เท่าไร จำนวนเงิน และมีกองทุนอะไรบ้าง
- ในกรณีที่ผู้รับคำปรึกษามีคำถาม นักวางแผนการเงินควรพิจารณาถึงเหตุผลเบื้องหลังคำถามเหล่านั้นก่อน ว่าทำไมผู้รับคำปรึกษาถึงได้สอบถามสิ่งเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม เช่น กรณีที่ราคาสินทรัพย์ลงทุนผันผวนรุนแรงจนผู้รับคำปรึกษาวิตกกังวล คำตอบสำหรับผู้รับคำปรึกษาแต่ละรายอาจแตกต่างกันออกไป เช่น บางรายอาจต้องเน้นอธิบายเรื่องธรรมชาติของสินทรัพย์นั้นๆ บางรายอาจต้องอธิบายเรื่องระยะเวลาและวินัยการลงทุน บางรายอาจต้องอธิบายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และบางรายอาจต้องเน้นไปที่การรับฟังและให้กำลังใจ เป็นต้น
- หากผู้รับคำปรึกษา อยากให้ทบทวนวิธีการต่างๆ ตามแผนที่เสนออีกครั้ง อาจเพราะหลงลืมหรือยังไม่เข้าใจในบางขั้นตอน นักวางแผนการเงินก็ควรจะเต็มใจที่จะอธิบายใหม่อีกครั้งให้กระชับ แต่อาจจะไม่ต้องละเอียด เท่ากับเมื่อครั้งที่นำเสนอแผนครั้งแรก
ซึ่งการแจ้งข้อมูลหรือการตอบคำถามนั้น นักวางแผนการเงินต้องดูความเหมาะสมของ เวลา และเงื่อนไขของผู้รับคำปรึกษาแต่ละท่านด้วยว่า สะดวกให้ติดต่อเวลาไหนบ้าง และสะดวกให้ติดต่อช่องทางไหนได้บ้าง ซึ่งควรจะได้มีการสอบถามและตกลงวิธีการกันไว้ก่อนตั้งแต่นัดแรกๆ
สำหรับงานให้คำปรึกษาหลังไมค์นั้น เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ของผมก็คือ…
เมื่อผู้รับคำปรึกษาติดต่อมาทางไลน์ อีเมล์ หรือโทรศัพท์เพื่อถามคำถามหรือขอคำปรึกษา แม้ผมจะไม่สามารถให้คำปรึกษา หรือตอบคำถามได้ในเวลานั้น แต่ผมจะตอบกลับก่อนเสมอว่า
รับทราบครับ ผมจะรบกวนขอติดต่อกลับเพื่อตอบคำถามภายในวันที่ XX เวลา YY หรือ จะสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วรีบแจ้งกลับภายในไม่เกินวันที่ ZZ นะครับ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาสบายใจ ว่าเราได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากรับปากอะไรไปก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามที่รับปากด้วย เว้นแต่ในกรณีที่คำถามของผู้รับคำปรึกษานั้นมีความสำคัญเร่งด่วน ต้องได้รับการตอบกลับทันที เช่น มีการตัดบัญชีธนาคารของผู้รับคำปรึกษาไม่ตรงกับแผน ก็จะต้องรีบชี้แจง หรือรีบดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
3. งานประสานงานกับบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
งานส่วนนี้โดยมากจะเกี่ยวข้องกับ 2 งานก่อนหน้าที่ได้กล่าวถึงไป คืองานเอกสาร และงานให้คำปรึกษาหลังไมค์ ซึ่งมักต้องมีการประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเจอการตอบสนองของบุคคลต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ โมโห หรือหงุดหงิดได้ สำหรับผมทักษะที่ต้องมีในข้อนี้ ก็คือ ทักษะในการสื่อสาร และการเข้าใจผู้อื่น
ความอ่อนน้อมถ่อมตน กับบุคคลที่เราต้องการขอความช่วยเหลือ และ การเข้าใจลักษณะงานของเขา ว่างานของเขา ไม่ได้มีแค่งานของเราเท่านั้น แต่เขาก็ต้องให้บริการคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน และบางครั้งเขาเองก็อาจไม่ได้มีอำนาจที่จะเร่งรัดสิ่งต่างๆ ให้กับเราได้
2 สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้ได้ เพราะเป็นการแสดงถึงความเคารพ และให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งอยู่ร่วมสายวิชาชีพเดียวกันกับเรา และทำให้เราควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้นอีกด้วย
เวลาผมขอความช่วยเหลือต่างๆ ผมจะทำด้วยความสุภาพ และพร้อมที่จะเข้าใจเขา ในกรณีที่เขาไม่สามารถให้ในสิ่งที่ผมต้องการได้ในทันที หรือผมอาจจะโดนต่อว่ากลับมา ผมก็จะโมโหน้อยลง หรืออาจจะโมโหช่วงแรกๆ แต่พอตั้งสติได้ อารมณ์โมโหนั้นก็จะหายไปได้เร็ว แต่ถ้าเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ปล่อยไปเรื่อยๆ อาชีพนักวางแผนการเงินที่เราชอบและมีความสุขที่ได้ทำ ในอนาคตมันอาจจะเป็นอาชีพที่ทำให้เราไม่มีความสุขก็เป็นได้
สำหรับงานประสานงานกับบุคคลอื่นๆ นี้ เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ของผมก็คือ…
ก่อนจะมีการสื่อสารกับบุคคลอื่น ในการขอข้อมูลหรือสอบถาม ผมจะเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม ก่อนที่จะทำการติดต่อไปเสมอ เช่น วัตถุประสงค์ในการขอข้อมูล หรือสอบถามคืออะไร ? ข้อมูลที่ต้องบอกก่อนจะขอข้อมูล หรือสอบถามมีอะไรบ้าง ? และระยะเวลาที่จะได้คำตอบนั้น ควรจะได้เมื่อไร ? การเตรียมตัวที่ดี จะทำให้การสื่อสารที่ออกมามีความกระชับและชัดเจนขึ้นครับ
สรุปก่อนจาก
จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของนักวางแผนการเงินนั้น ไม่ใช่แค่การศึกษาหาความรู้ การสอบผ่านตามมาตรฐานที่กำหนด การให้คำปรึกษา การนำเสนอแผนการเงิน แต่ยังมีงานเบื้องหลังอยู่เยอะแยะมากมาย ซึ่งงานบางอย่าง ก็ชวนให้น่าปวดหัว อยู่ไม่น้อย
3 หัวข้อที่ผมยกตัวอย่างนี้ เป็น 3 หัวข้อ ที่ผมคิดว่า เป็นงานหลังบ้านที่นักวางแผนการเงิน ต้องให้ความสำคัญ ไม่แพ้งานหน้าบ้าน ซึ่งใครที่เป็นนักวางแผนการเงินอยู่ หรืออยากจะเป็นนักวางแผนการเงินในอนาคต จะต้องเจออย่างแน่นอนครับ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่อยู่หลังบ้าน ซึ่งนักวางแผนการเงินต้องให้ความสำคัญเช่นกัน นั่นคือ การพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาความรู้ต่างๆ ทั้งเรื่องการเงิน และเรื่องความรู้รอบตัว การพัฒนาทักษะในการสื่อสาร และวิธีการนำเสนอแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient :EQ) เพื่อให้สามารถมีสติ และจัดการอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ผมเองไม่สามารถบอกได้ว่าอาชีพนี้ น่าสนใจแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความคาดหวังในการทำอาชีพนี้ของแต่ละคน แต่สิ่งที่ผมได้รับจากการทำอาชีพนี้แน่ๆ ก็คือ ความสุข ที่ได้จากการเป็นผู้ให้ และ ความสุข ที่ได้อยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน ดังนั้น สำหรับผมอาชีพนักวางแผนการเงิน จึงเป็นอาชีพที่สร้างทั้งคุณค่าและสร้างทั้งความสุข ให้กับตัวผมเองและผู้อื่น
สำหรับใครที่ต้องการเป็นนักวางแผนการเงินนั้น ผมเชื่อว่าถ้ามีความพยายามก็สามารถเป็นกันได้ แต่การจะเป็นนักวางแผนการเงิน “ที่ดี” ด้วยนั้น ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ อย่างแน่นอนครับ