การรอคอย… ที่มีความสุข
29/01/2018Start with Why : ทำไมเราถึงมาเป็นนักวางแผนการเงินทีมนี้
14/03/2018ในเรื่องการวางแผนการเงิน สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการตั้ง “สมมติฐาน”
นั่นก็เพราะ การวางแผนไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ย่อมต้องมีการ “คาดคะเน” สิ่งต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมจะไม่ถูกต้อง 100% (เพราะคงไม่มีใครสามารถล่วงรู้อนาคตได้) แต่เราก็จำเป็นต้องประเมินความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด โดยเฉพาะ ในส่วนของการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องเตรียมในเรื่องต่างๆ ที่เราต้องตั้งสมมติฐานอยู่หลายตัวแปร เช่น
- อัตราผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาวของสินทรัพย์แต่ละประเภท (Expected Return)
- อายุคาดเฉลี่ย หรือ อายุขัยคาดหมาย (Life Expectancy)
- อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Expected Inflation)
- ฯลฯ
คำถามก็คือ เราควรจะใช้ค่าไหน จึงจะเหมาะสม? เราลองมาดูตัวอย่างของตัวแปรสำคัญข้างต้นกันทีละตัวดีกว่าครับ
อัตราผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาวของสินทรัพย์แต่ละประเภท
สำหรับอัตราผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาว (Expected Return) ของสินทรัพย์ที่ใช้ในการวางแผนการลงทุน มักนิยมใช้ “ค่าเฉลี่ย” จากสถิติในอดีตระยะยาวๆ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่าประมาณ 7-10 ปี มาเป็นตัวแทน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สินทรัพย์ที่เราประเมิน มีโอกาส “ผ่านร้อนผ่านหนาว” คือมีทั้งช่วงเวลาที่ดี และช่วงเวลาที่แย่ มาพอสมควร (ถ้าสินทรัพย์นั้นเป็นหุ้น ก็น่าจะได้ผ่านทั้งช่วงวิกฤติ และช่วงที่หุ้นเติบโตดีมาแล้ว) ทำให้ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนที่ได้ ค่อนข้างจะเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ค่าที่สูงหรือต่ำเกินไป
แต่นอกจากการพิจารณาค่าเฉลี่ยในอดีตแล้ว ต้องอย่างลืมมอง “แนวโน้ม” ของผลตอบแทนที่ีมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงที่ผ่านมาเอาไว้ด้วย เพราะบางสินทรัพย์ หากดูอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีต อาจจะสูงกว่าความเป็นจริงที่มีโอกาสเกิดได้ในปัจจุบัน ถ้าสินทรัพย์ใดมีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนจะลดลง เราก็อาจต้องปรับลดผลตอบแทนจากค่าเฉลี่ยเอาไว้ระดับหนึ่ง เพื่อเป็นการประเมินอย่างรัดกุมด้วย
เช่น กรณีกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลางของไทย หากดูจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อาจจะอยู่ที่ 3% กว่าๆ แต่อัตราผลตอบแทนตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของตราสารหนี้ มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่มีการทยอยปรับลดลง ทำให้เราอาจต้องคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนตราสารหนี้ในอนาคต อยู่ที่ประมาณ 2% กว่าๆ แทน เป็นต้น
อายุคาดเฉลี่ย หรือ อายุขัยคาดหมาย
ในการวางแผนเกษียณ แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า เรา (หรือผู้ขอรับคำปรึกษา) จะจากไปเมื่อไร แต่อย่างน้อย เราก็สามารถหาข้อมูลตั้งต้นที่น่าเชื่อถือ เพื่อมาใช้เป็นสมมติฐานในการประเมินอายุขัยได้ในระดับหนึ่ง เช่นอาจปรับจากค่าประเมินทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 78.9 ปีสำหรับเพศหญิง (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล : https://goo.gl/uSrBWc) แปลว่า อย่างน้อยเราก็ไม่ควรประเมินอายุขัยไว้ห่างจากตัวเลขนี้มากนัก แต่จะปรับไปเป็นเท่าไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น
- คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและคุณภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจมีผลให้อายุคาดเฉลี่ยสูงขึ้นในอนาคต
- คำนึงถึงอายุขัยของญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว เช่น ปู่ยาตายาย ที่เสียไปแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่
- คำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้รับคำปรึกษา ซึ่งอาจมีพฤติกรรมเสริม หรือพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่ออายุขัยคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ว เราก็ควรที่จะเผื่ออายุขัยคาดหมายไว้ให้ยืนยาวสักหน่อย (อย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่า 80 ปี) เพื่อเป็นการเผื่อเงินเกษียณที่ต้องเตรียมไว้ ให้มีโอกาสใช้ได้เพียงพอ แม้ว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้อายุยืนถึงขนาดนั้นก็ตาม เพราะอย่างน้อยถึงอาจจะน่าเสียดายที่ใช้เงินไม่หมด แต่ก็คงจะดีกว่าต้องมานั่งสลด เพราะเงินหมดแล้วยังมีชีวิตอยู่ ใช่ไหมล่ะครับ
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ที่เราใช้เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายทั่วไป เพื่อหามูลค่าของค่าใช้จ่ายในอนาคต ควรจะเป็นเท่าไร ?
เพราะถ้าดูจากค่าเฉลี่ยย้อนหลังของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทย 15 ปี ย้อนหลัง (ข้อมูลถึง ก.ย. 2560) จะอยู่ที่ประมาณ 2.09% ต่อปี ก็อาจจะเป็นค่าที่ไม่เหมาะนำมาใช้เป็นสมมติฐานกับผู้รับคำปรึกษาบางท่าน เพราะเงินเฟ้อค่าดังกล่าวใช้การเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของสินค้าถึง 422 รายการ (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์ : https://goo.gl/FKX9Ks) ซึ่งบางคน ก็ไม่ค่อยได้จับจ่ายสินค้าในบางรายการ (เช่น อาหารสด, ค่าเช่าบ้าน, เหล้าบุหรี่ ฯลฯ) ทำให้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อของประเทศ อาจต่ำกว่าความเป็นจริงที่มีการใช้จ่าย หรือต่ำกว่า ค่าเงินเฟ้อส่วนบุคคล (Personal Inflation) ของคนคนนั้น
ถ้าอย่างนั้น เราควรจะใช้กี่ % ดี ? บางตำราก็บอกว่า 3% บางคนก็ใช้ 3.5% หรือจะเผื่อไว้มากหน่อย ประมาณ 4% ดีไหม?
ไม่ว่าจะใช้ตัวเลขไหน สิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ เราควรจะวางแผนอย่างรัดกุม “เหมาะสม” เพราะถ้าใช้ตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำ ก็อาจจะทำให้เตรียมเงินในอนาคตไว้น้อยเกินไป ทำให้เหลือเงินไม่พอใช้ แต่ถ้าหากใช้ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูง นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมเงินในอนาคตเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งบางทีอาจจะมากจนเกินที่เราจะเตรียมไหว และอาจบั่นทอนกำลังใจของผู้รับคำปรึกษาเมื่อได้เห็นเป้าหมายที่สูงลิ่วดังกล่าว
ดังนั้น หากเราใช้อัตราเงินเฟ้อที่ 3% แล้วเกรงว่าเงินที่เตรียมไว้ (เช่น ตอนเกษียณ) อาจจะไม่พอ เราอาจต้องปรับสมมติฐานอื่นๆ เพื่อเป็นการ “เผื่อเหลือเผื่อขาด” เอาไว้ด้วย เช่น ตอนแรกอาจจะประเมินอายุขัยไว้ที่ 85 ปี ก็อาจจะเผื่อเป็น 90 ปี หรือ ตอนแรกอาจจะคำนวณเงินให้พอใช้ถึงอายุ 85 ปีพอดี ก็อาจจะประมาณให้ใช้ได้ถึงอายุ 85 ปี แล้วยังเหลืออีกสัก 3-5 ล้าน (ไว้เผื่ออายุยืนกว่านั้น) ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ก็ต้องระวังการเผื่อซ้ำเผื่อซ้อนมากเกินไป เพราะหากเผื่อตัวเลขเงินเฟ้อไว้สูงถึง 4% แล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเผื่อเงินเหลือ หรือเผื่ออายุไว้ยืนขึ้นอีก เพราะหากยิ่งเผื่อไว้หลายด้าน จำนวนเงินที่ต้องเตรียมก็อาจจะสูงจนเกินความเหมาะสมไป
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า การวางแผนการเงินนั้นจำเป็นต้องตั้งสมมติฐาน ซึ่งอาจจะใกล้เคียงความเป็นจริง หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมากก็ได้ ดังนั้น การวางแผนการเงิน จึงไม่ใช่การกำหนดเส้นทางชีวิตที่แม่นยำแบบเป๊ะๆ แบบที่สามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง ครั้งเดียวจบ แต่กลับเป็น “LifeLong Activity” คือเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการทบทวนปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตมากกว่า
หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่า การวางแผนการเงินนั้น เสมือนการสร้าง “เส้นประ” ให้เราได้ค่อยๆ ลาก “เส้นทึบ” ตามไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่สะเปะสะปะอย่างไร้หลักการ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหมั่นตรวจสอบ หรือทบทวนแผนที่วางไว้ รวมถึงสมมติฐานต่างๆ ที่ตั้งไว้อยู่เสมอ อย่างน้อยๆ ก็ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบว่า สมมติฐานที่เราใช้ ยังมีแนวโน้มเหมือนเดิม หรือเริ่มเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้น เกิดเราลากเส้นทึบตามไปบนเส้นประที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ณ ปัจจุบัน เราก็อาจมุ่งหน้าไปอย่างผิดทิศผิดทางก็เป็นได้