10 ข้อควรพิจารณาสำหรับการวางแผนการเงินองค์รวมอย่างรัดกุม
21/12/2017ตั้งสมมติฐานในการวางแผนการเงินอย่างไรให้เหมาะสม
14/02/2018หากพูดถึง ความฝัน หรือเป้าหมายในชีวิต เราจะคิดถึงอะไรกันบ้างครับ ?
ความสำเร็จ ความร่ำรวย การมีบ้านหลังใหญ่ มีรถคันหรู รวมไปถึงการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ?
เป้าหมายเหล่านี้ ถ้าเราทำได้สำเร็จ เราย่อมจะมีความภาคภูมิใจและมีความสุข แต่ในความฝันหรือเป้าหมายนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้เลย นั่นคือ… ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปถึงเป้าหมาย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มักจะแปรผันตามขนาดของความฝัน หรือขนาดของเป้าหมาย
เช่น เป้าหมายคือต้องการซื้อรถยนต์ ก็อาจจะใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการออมเงินเพื่อดาวน์รถ และ ผ่อนค่างวดในแต่ละเดือน แต่ถ้าเป้าหมายคือการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เราอาจจะใช้เวลาแค่ 1-2 ปี ในการเก็บเงินเท่านั้น จะเห็นว่า ยิ่งเป้าหมายกินเวลาในการเดินทางมากเท่าไร ถ้าเตรียมตัวมาไม่ดีพอ เราอาจหมดแรงเดิน หรือท้อระหว่างทาง ก่อนจะไปถึงยังเป้าหมายได้ง่ายเท่านั้น
ในที่นี้บางเป้าหมายอาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเห็นผล ซึ่งต้องอาศัยการอดทนรอคอยอย่างมีวินัย แต่ถ้าเรารู้ระยะเวลาที่เป็นไปได้ รวมถึงรู้วิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน มันก็อาจช่วยให้เรามีความมั่นใจขึ้นในระดับหนึ่ง ว่าเป้าหมายนั้นคงไม่ได้เป็นเพียงแค่ความฝัน การรอคอยนี้ “ก็อาจจะเป็นการรอคอย ที่สร้างความสุขให้แก่เราได้” ความสุขนี้ละครับ ที่จะเป็นกำลังใจชั้นเยี่ยม ให้เราเดินไปจนถึงเป้าหมาย
แล้วเราจะรู้ระยะเวลา รวมถึงวิธีการลงมือทำ ในแต่ละเป้าหมายได้อย่างไรล่ะ ?
5 คำถามต่อ 1 ความฝัน
ก่อนที่จะลงมือทำตามฝัน หรือเป้าหมายนั้น ผมอยากชวนให้ท่านผู้อ่าน ลองตั้งคำถาม 5 คำถามต่อ 1 ความฝัน ได้แก่
คำถามที่ 1
เป้าหมายนั้นคือ อะไร เช่น อยากมีฐานะที่ดีขึ้น หรือ อยากเป็นนักวิ่ง
คำถามที่ 2
เป้าหมายนั้นต้อง วัดเป็นเชิงปริมาณ หรือตัวเลขได้ เช่น อยากรวยมีเงิน 40 ล้านบาท หรือ อยากลงวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42 กิโลเมตร
คำถามที่ 3
ระยะเวลา ที่เราอยากไปถึงเป้าหมาย เช่น อยากมีเงิน 40 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี หรือ ต้องลงวิ่งมาราธอนให้ได้ภาย 1 ปี
คำถามที่ 4
เหตุผล ที่เราต้องการได้เป้าหมายนั้น เช่น อยากมีเงิน 40 ล้านบาท เพราะคำนวณค่าใช้จ่ายมาแล้วว่า พอใช้เลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้ ไปจนสิ้นอายุขัย หรือ อยากวิ่งมาราธอนให้ได้ เพราะอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนใกล้ตัวได้หันมาออกกำลังกาย การตั้งคำถาม เพื่อหาเหตุผล ก็เพื่อจะได้ถามตัวเองอีกครั้งครับว่า เราต้องการสิ่งนี้จริงไหม
คำถามที่ 5
กลยุทธ์ หรือ วิธีการ ที่จะไปถึงยังเป้าหมาย เช่น การประหยัดค่าใช้จ่าย ออมเงินเดือนละเท่าไร นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เราศึกษามาแล้ว หรือ หมั่นซ้อมวิ่ง วันละ 10 กิโลเมตร ทุก ๆ วัน
ทั้ง 5 คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองหาคำตอบมาให้ได้ ก่อนที่จะลงมือทำนะครับ เพื่อที่จะได้เห็นภาพของเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้มากขึ้น บางคำถามไม่จำเป็นต้องรู้จนมั่นใจก็ได้ แต่ต้องพอเห็นภาพได้บ้าง (เช่น คำถามเรื่องกลยุทธ์ หรือวิธีการที่จะไปถึงยังเป้าหมาย) เพราะระหว่างทางที่เราเดินนั้น คำตอบของเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามแต่ละสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา
ไม่ใช่แค่เพียงถามแล้วตอบ
ลำดับถัดมาที่ผมอยากให้ทำเพิ่มอีก 1 ขั้นตอน ก็คือ ตรวจสอบความพร้อมของตัวเอง ในปัจจุบัน ต่อ 1 เป้าหมาย ว่าเรามีความพร้อมด้านไหนบ้าง ด้านไหนที่ยังไม่พร้อม และต้องเตรียมตัวเพิ่มอย่างไรบ้าง เช่น
เป้าหมาย : อยากมีเงิน 40 ล้านบาท ตอนอายุ 50 ปี เพื่อใช้เลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้ ไปถึงอายุ 90 ปี
เรื่องที่พร้อม
- ออมเงินได้เดือนละ 20,000 บาท
- ปัจจุบันมีเงินเก็บอยู่ 2 ล้านบาท
เรื่องที่ต้องเตรียมเพิ่มเติม
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
- หารายได้เพิ่มเติม เดือนละ 10,000 บาท จากการรับจ้างแปลหนังสือ
จะเห็นว่า ถ้าเราสามารถตอบคำถามทั้ง 5 ข้อได้ ภาพของเป้าหมายจะมีความชัดเจนมากขึ้น และจากการตรวจสอบความพร้อมของตัวเองในปัจจุบัน จะทำให้เรารู้ว่า ปัจจุบันเรามีความพร้อมหรือไม่พร้อมด้านไหนบ้าง
ตัวอย่าง การตั้งคำถามและตรวจสอบความพร้อมของตัวเอง
คนที่มีเป้าหมายอะไรสักอย่าง แล้วเขารู้เส้นทางที่จะเดินไปยังเป้าหมายนั้น แม้เส้นทางอาจจะยาวไกล และต้องใช้เวลา เขาก็พร้อมจะยอมเดินบนเส้นทางนั้น จากนั้นเขาก็จะสำรวจดูความพร้อมของตัวเอง วางแผนต่าง ๆ อย่างรัดกุม และลงมือทำตามแผนทุก ๆ วัน มากบ้าง น้อยบ้าง เดินทุก ๆ วัน ทีละก้าวสองก้าว และพร้อมที่จะรอคอยเมื่อวันนั้นมาถึง
ผมรับรองได้ว่าเมื่อท่านผู้อ่านนำวิธีการที่ผมเขียนนี้ นำไปประยุกต์ใช้ในการเดินตามความฝันหรือเป้าหมาย สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะได้รับอย่างแน่นอน คือ
- ภาพของเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
- เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และ
- พร้อมที่จะรอคอยเป้าหมายที่ใฝ่ฝันนั้นได้อย่างมีความสุข
เมื่อเป้าหมายชัดเจน มีกลยุทธ์ที่ทำได้จริง และเข้าใจความต้องการของตัวเอง เราก็จะรู้สึกสนุกกับการเดินทาง และมีความสุขจากการรอคอยเป้าหมายของเรา
มาเปลี่ยนการรอคอยที่เลื่อนลอย เป็น “การรอคอยที่มีความสุข” กันนะครับ