นักวางแผนการเงิน : เพื่อนคู่คิด ที่ช่วยคุณ (คิด) ได้มากกว่าเรื่องเงิน
20/12/2017การรอคอย… ที่มีความสุข
29/01/2018แนวทางการวางแผนการเงินของพวกเรา Avenger Planner นั้น นอกเหนือจากจะเป็นการวางแผนแบบ “องค์รวม” คือไม่ได้วางแผนเฉพาะบางเรื่อง แต่จะวางแผนทุกด้านที่เกี่ยวกับการเงิน ไม่ว่าจะแผนการลงทุน แผนประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ/ประกันภัย การบริหารรายรับรายจ่าย การบริหารหนี้สิน การจัดการทางภาษี ฯลฯ โดยประเมินถึงผลกระทบซึ่งกันและกันของแต่ละแผน ให้เป็นแผนการเงินแบบบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวแล้วนั้น
สิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนการเงินแบบองค์รวมที่เราเน้นย้ำ และให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งเสมอ คือเรื่องของความ “รอบคอบ และ ระมัดระวัง” เพื่อให้แผนที่ออกมามีความเหมาะสม ไม่คาดหวังอะไรที่สูงจนเกินไปจนเป็นอันตราย ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้าแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน อันจะทำให้ลูกค้า หรือผู้รับคำปรึกษามีโอกาสบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้มากที่สุด
ซึ่งแนวทางการวางแผนทางการเงินให้รัดกุม หรือ “Conservative” นั้น ผมขอสรุปออกมาเป็น 10 ข้อสำหรับนักวางแผนการเงิน/ที่ปรึกษาการเงิน ที่ต้องการวางแผนทางการเงินให้กับลูกค้า หรือผู้ที่กำลังวางแผนการเงินให้ตนเองได้พิจารณา ดังต่อไปนี้
1. รายได้มีความมั่นคง สม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน ?
เพราะรายได้ คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการนำมาจัดสรรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเงิน และการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข หากขาดรายได้ไปเสียแล้ว คงต้องพบกับอุปสรรคทางการเงินอย่างแน่นอน เราจึงควรต้องดูด้วยว่า…
- แหล่งรายได้ของเรามีกี่ทาง พึ่งพาบางแหล่งเป็นหลักหรือมีแค่แหล่งเดียวหรือไม่ ?
- แหล่งรายได้นั้นมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะทำงานประจำมีรายได้สม่ำเสมอ แต่สถานการณ์ในการทำงาน และสถานะของบริษัทที่เราทำงานอยู่เป็นอย่างไร ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ไหม ?
- สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ เช่น รับจ้าง ขายของ หรือทำธุรกิจส่วนตัวนั้น ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่ามีลูกค้าสม่ำเสมอแค่ไหน แนวโน้มธุรกิจเป็นไปด้วยดีรึเปล่า ?
- หากทำธุรกิจมีการแยกการเงินระหว่างของธุรกิจกับของตัวเราเองอย่างชัดเจนแล้วหรือยัง ? ไม่อย่างนั้นทั้งตัวเราเองและธุรกิจอาจจะประสบปัญหาไปพร้อมๆ กันได้
จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่เราต้องประเมินรายได้ไว้อย่างรัดกุม หากรายได้ยังไม่ชัดเจนแน่นอน ก็อาจจะต้องวางแผนในเรื่องต่างๆ และรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้เป็นอย่างต่ำที่สุดไว้ก่อน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาการเงินจากการวางแผนเรื่องต่างๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคต
2. ความเสี่ยงด้านต่างๆ มีมากน้อยแค่ไหน จำเป็นที่ต้องจัดการโดยใช้ประกันหรือไม่ ?
แม้การทำประกันจะมีข้อดี คือสามารถโอนความเสี่ยงจำนวนมากไปให้กับบริษัทประกันได้แทนที่จะต้องแบกรับไว้เอง แต่ในบางกรณีการทำประกันก็อาจจะไม่ใช่ทางออกหรือตัวเลือกที่เหมาะสมเสมอไป ซึ่งควรพิจารณาจากทรัพย์สินหรือความคุ้มครองเดิมที่มีอยู่ ว่าเพียงพอรับมือกับความเสี่ยงหรือความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ เช่นความเสี่ยงที่จะตกงาน ทรัพย์สินที่มีเสียหาย ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยทั่วไป เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทุพพลภาพ หรือถึงขั้นเสียชีวิต
- หากคาดว่าเพียงพอแล้ว ก็อาจจะ “ไม่จำเป็น” ต้องทำประกันก็ได้ แต่ถ้าเรามีศักยภาพที่จะจ่ายเบี้ยประกันได้อย่างไม่เดือดร้อนเช่นกัน ก็อยู่ที่ดุลยพินิจว่าจะทำประกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการความเสี่ยงหรือไม่
- หากคาดว่าไม่เพียงพอ และพิจารณาแล้วว่าจ่ายเบี้ยไหว แน่นอนว่าก็ควรต้องพิจารณาทำประกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยไว้ให้ล่าช้า แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่นเจ็บป่วย ขึ้นมาก่อน บางทีก็อาจไม่สามารถทำประกันได้ หรือหากทำได้ก็อาจจะต้องถูกเพิ่มเบี้ยหรือจำกัดความคุ้มครองแทน
แต่ปัญหาก็คือถ้าจำเป็นต้องทำประกัน แต่ประเมินแล้วจ่ายไม่ไหวนี่ล่ะครับ ซึ่งในกรณีแบบนี้คงต้องมาดูกันว่าที่จ่ายไม่ไหวนั้นมันไม่ไหวขนาดไหน ถ้าพอจะไหวในบางเรื่องก็อาจเน้นทำประกันประเภทที่ประเมินแล้วมีความสำคัญที่สุดก่อนที่จ่ายเบี้ยไหว (เช่นประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ) แต่ถ้าไม่ไหวอย่างรุนแรงเช่นมีเงินเหลือน้อยมาก หรือกระทั่งกระแสเงินสดติดลบ (รายรับน้อยกว่ารายจ่าย) บางทีการทำประกันตอนนี้ ก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมแม้จะเป็นสิ่งที่ควรทำก็ได้
เพราะ การทำประกันนั้นยังไม่แน่ว่าจะได้ใช้หรือไม่ แต่การทำประกัน “เกินตัว” นั้นจะนำมาซึ่งปัญหาแน่นอน ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ดี โดยต้องประเมินจากสภาพคล่องและกระแสเงินสดให้ถี่ถ้วนด้วย
3. มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันต่างๆ ในระยะยาวหรือไม่ ?
ข้อนี้เป็นผลสืบเนื่อง จากการประเมินในข้อที่แล้ว แต่ผมขอนำมาเน้นย้ำ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการวางแผนทำประกันบางเรื่องเป็นพิเศษ เนื่องจากหากประเมินด้วยปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบัน อาจพบว่ามีศักยภาพในการทำประกันได้อย่างไม่มีปัญหา แต่หากประมาณการไปในอนาคตก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น การทำประกันสุขภาพ ที่มีค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นทุกปี (หรือทุกๆ 5 ปี แล้วแต่ประเภทของแบบประกัน) โดยเฉพาะช่วงวัยเกษียณที่ค่าเบี้ยต่อปีอาจจะสูงถึงหลักหลายแสนบาท ขณะที่เบี้ยปัจจุบันอาจจะอยู่ในระดับเพียงหมื่นต้นๆ เท่านั้น
กรณีนี้ เราควรต้องพิจารณาในแต่ละประเด็นดังนี้ ว่า…
- กระแสเงินสดในอนาคตจะเพียงพอต่อการจ่ายเบี้ยประกันรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในตอนนั้นหรือไม่ ?
- ควรทำถึงอายุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?
- จะต้องปรับแผนประกันสุขภาพที่ทำไว้ก่อนหน้าบางรายการ เพื่อลดค่าเบี้ยประกันลงหรือไม่ ?
- หรือจะใช้วิธีนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ ไปรวมกับเงินที่ต้องเตรียมไว้เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ แล้วใช้การลงทุนเข้าช่วยในการเตรียมเงินก้อนนี้
- ฯลฯ
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เราควรประเมินให้รอบคอบตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ทำไปก่อน แล้วค่อยไปรู้ตัวว่ามีปัญหาทีหลัง หรือค่อยไปลุ้นเอาดาบหน้าว่าจะจ่ายไหวไหม เพราะต้นทุนของการแก้ปัญหาทีหลังนั้นสูงกว่าต้นทุนของการเตรียมการอย่างรอบคอบอย่างแน่นอน
4. ผลตอบแทนการลงทุนที่ประเมินไว้ และสมมติฐานต่างๆ คาดหวังไว้สูงเกินไปหรือไม่ ?
การวางแผนการลงทุนที่เหมาะสม ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการวางแผนการเงิน ที่ต้องมีการสะสมเงินโดยการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ในอนาคต เช่น แผนเกษียณอายุ แผนการศึกษาบุตร หรือแผนการลงทุนเพื่อเป้าหมายอื่นๆ
เพราะถ้าหากเราวางแผนการลงทุนโดย คาดหวังผลตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุน เช่น คาดหวังผลตอบแทนที่สูงในระดับ 8-10% ต่อปีขึ้นไป สำหรับเป้าหมายการเงินระยะสั้น – ปานกลาง (ระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 3 ปี) เช่น เป้าเก็บเงินก้อนเพื่อดาวน์รถ ดาวน์บ้าน แต่งงาน หรือ เป้าหมายที่จำเป็นต้องมีการถอนเงินออกจากพอร์ตอยู่เป็นระยะ เช่นพอร์ตใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งควรจะจัดพอร์ตที่เน้นความปลอดภัยมากกว่าเน้นการเติบโต ก็ถือเป็นการวางแผนอย่างประมาทและมีโอกาสผิดพลาดสูง
นอกจากนั้น การประเมินหรือคาดหวังอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์แต่ละประเภทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ไม่ควรที่จะประเมินเอาไว้สูงจนเกินไป เพราะอาจจะมีโอกาสที่ผลการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้น ต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้ เช่น กองทุนหุ้นไทย อาจจะไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวเกินกว่า 10-12% ต่อปี หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ไทย ไม่ควรคาดหวังเกิน 2.5-3.0% ต่อปี เป็นต้น
ในทางกลับกัน สมมติฐานบางเรื่องหากประเมินไว้รัดกุมจนเกินไป ก็อาจเป็นการบีบคั้นให้ต้องเตรียมเงินมากขึ้น จนอาจทำตามแผนไม่ไหว เช่น ประเมินอัตราเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายรายการทั่วๆ ไปไว้สูงถึง 4-5% ต่อปี เป็นต้น ดังนั้น สมมติฐานและค่าประมาณการในทุกๆ เรื่องจึงควรประเมินให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด หรืออาจจะรัดกุมเพิ่มขึ้นได้บ้างเล็กน้อย ไม่สูง และไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อความเหมาะสมในการวางแผน
อย่างไรก็ตาม ควรพึงระวังด้วยว่า ในระหว่างการลงมือทำตามแผนซึ่งกินเวลาหลายสิบปีนั้น สถานการณ์ต่างๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้มาก หากสมมติฐานที่วางไว้เดิม เริ่มไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับปรุงสมมติฐานให้สมจริงขึ้นเช่นกัน แม้นั่นจะส่งผลให้ต้องปรับปรุงแผนการเงินทั้งฉบับตามไปด้วยก็ตาม
5. เมื่อวางแผนต่างๆ ครบทุกแผนแล้ว กระแสเงินสดรับ-จ่ายที่ประเมินล่วงหน้าในแต่ละปี เพียงพอหรือไม่ ?
ส่วนของการประเมินกระแสเงินสดล่วงหน้า ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการทำแผนการเงินก็ว่าได้ เพราะจะเป็นการกำหนดความเป็นไปได้ของแผนที่วางไว้ ว่ามีโอกาสปฏิบัติตามได้จริงหรือไม่ เนื่องจากต่อให้เรากำหนดเป้าหมายการเงิน หรือวางแผนการเงินในแต่ละเรื่องไว้สวยหรูดูดีขนาดไหนก็ตาม แต่หากประเมินแล้ว แผนดังกล่าว ทำให้กระแสเงินสดในอนาคตไม่เพียงพอ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับแผนใหม่ หรือปรับลดเป้าหมายลงมา เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะปฏิบัติตามแผนนั้นให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาสภาพคล่องตามมาในอนาคต
ซึ่งในการประเมินนั้น สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมประเมินผลกระทบของเงินเฟ้อ ที่จะทำให้รายจ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งเงินเฟ้อในแต่ละเรื่องก็อาจจะไม่เท่ากันด้วย) รวมถึงรายรับและรายจ่ายบางอย่างที่อาจจะ “งอก” ขึ้นมาในอนาคตตามวงจรชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ค่ารักษาพยาบาลให้คุณพ่อคุณแม่ในอนาคตที่สุขภาพอาจจะเริ่มทรุดลง เป็นต้น หากเป็นไปได้ก็ควรพยายามประเมินโดยคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เข้าไปด้วย
6. เป้าหมายต่างๆ ที่วางแผนไว้ ครบถ้วนแล้วหรือยัง ยังมีโอกาสที่จะมีการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในอนาคตตกหล่นอยู่อีกไหม ?
บางครั้งเป้าหมายการเงินที่เราตั้งเอาไว้ อาจจะถูกตั้งมาจากความต้องการ หรือสิ่งที่เราตระหนักถึงแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะตกหล่นบางเรื่องที่ก็จำเป็นและใช้เงินมากเช่นกัน เช่น
- การเปลี่ยนรถคันใหม่ และควรจะต้องเปลี่ยนทุกๆ กี่ปี ? เพราะคงไม่มีรถยนต์คันไหนที่สามารถใช้งานไปได้ตลอดกาล
- การซ่อมแซมต่อเติม หรือ Renovate บ้านครั้งใหญ่ สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยมานานหลายสิบปีแล้ว
- โอกาสที่อาจจะกำลังมีบุตรในอนาคต ที่อาจจะต้องเผื่อเงินสำหรับค่าเลี้ยงดู และคุ้มครองสุขภาพ
- ฯลฯ
เพราะเรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจต้องเตรียมเงินจำนวนมาก หากตกหล่น หรือไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ก่อน ก็อาจจะกระทบกับสภาพคล่องในอนาคต เป็นปัญหาให้ต้องมานั่งปรับแผนที่เคยวางเอาไว้ทั้งหมดด้วยก็เป็นได้
ดังนั้น หากพบว่ามีโอกาสที่จะมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็ควรจะตั้งเป็นเป้าหมายเพิ่มเติม (แม้จะนึกไม่ถึงในตอนแรก) เพื่อวางแผนเตรียมเงินไว้ หรือหากยังไม่แน่ใจ ก็อาจจะต้องจัดทำแผนที่ไม่ตึงเกินไป คือเมื่อทำตามเป้าหมายต่างๆ ในปัจจุบันแล้ว ควรจะเหลือกระแสเงินสดสภาพคล่องในแต่ละปีอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ควรวางแผนให้ใช้กระแสเงินสดจนหมด หรือเกือบหมด เพื่อไว้รองรับเหตุการณ์เหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นเอาไว้ด้วย
7. รายรับ-รายจ่ายที่ประเมินไว้ ครบถ้วนเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ ?
ในการประเมินรายรับรายจ่ายล่วงหน้านั้น หากเป็นไปได้ ก็ควรที่จะประเมินอย่างละเอียด แทนที่จะประเมินเป็นก้อนแค่คร่าวๆ เพราะหากพิจารณาดีๆ แล้ว อาจจะทำให้เราพบรายจ่ายบางอย่างที่ตกหล่นไปด้วยก็เป็นได้ เช่น ค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินต่างๆ เบี้ยประกันบางรายการที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ค่าใช้จ่ายทางสังคม (ปาร์ตี้, งานบุญ, งานบวช, งานศพ, งานแต่ง) ฯลฯ ซึ่งรวมๆ แล้วอาจจะหลายหมื่น หรือถึงหลักแสนต่อปีได้
นอกจากนี้ รายจ่ายบางรายการที่เราอาจจะตั้งงบประมาณเอาไว้ เพราะอาจจะไม่ใช่รายจ่ายที่เกิดประจำ เช่น งบค่าท่องเที่ยว งบช็อปปิ้ง หรืองบสันทนาการนั้น เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราจริงๆ แล้วหรือยัง เนื่องจากหากเราตั้งงบไว้ต่ำไป เพราะตั้งใจจะประหยัดและคิดว่าจะทำได้ แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ ก็อาจจะทำให้เงินไม่พออย่างที่คาดไว้ หรือเผื่อเอาไว้มากเกิน ก็อาจจะเห็นว่าเหลือเงินไม่เพียงพอจะวางแผนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสามารถทำได้ ก็เป็นได้
8. แผนที่วางไว้เป็นไปตามเงื่อนไขทางภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือยัง ?
แผนภาษีคือส่วนประกอบหนึ่งที่จะกำหนด แผนปฏิบัติการสำหรับเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะแผนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ค่าลดหย่อนทางภาษี ที่อาจจะต้องมีการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ RMF หรือ LTF เป็นต้น
ดังนั้น ในการวางแผนการเงินแต่ละเรื่อง เราต้องห้ามลืมว่าแผนที่แนะนำนั้นต้องสอดคล้อง และไม่ขัดกับเกณฑ์เงื่อนไขทางภาษีต่างๆ ด้วย เช่น
- ต้องไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เกินสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด เช่นตั้งใจลงทุนเพื่อเกษียณอายุด้วย LTF และ RMF แต่เงินที่ลงทุนมีจำนวนมากกว่าสิทธิ์ที่กฎหมายอนุญาต ก็จำเป็นต้องลงทุนเงินส่วนที่เกินสิทธิ์ในกองทุนเปิดทั่วไป ซึ่งลดหย่อนภาษีไม่ได้ร่วมไปด้วย เป็นต้น
- แผนปฏิบัติการ ที่ต้องมีการยกเลิก หรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาเพื่อใช้จ่ายในอนาคต ต้องไม่ละเมิดเงื่อนไขทางภาษี เช่น ต้องแน่ใจว่ากองทุน LTF ที่ตั้งใจจะขายนั้นถือครองมาไม่ต่ำกว่า 7 ปีแล้ว
- สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีบางรายการ มีระยะเวลาสิ้นสุด เช่นกองทุน LTF อาจจะมีสิทธิ์ไม่ได้รับการต่ออายุหลังจากปี พ.ศ. 2562 ดังนั้นในแผนการเงินก็ไม่ควรประเมินว่าสิทธิ์ลดหย่อนดังกล่าวจะคงอยู่ตลอดไป เป็นต้น
9. มีความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ในชีวิตซึ่งเกิดจากคนรอบข้าง แต่กระทบการเงินส่วนตัวของเราหรือไม่ ?
ปัญหาทางการเงินบางอย่าง ก็อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้โดยที่เราไม่ได้เป็นคนก่อปัญหานั้นด้วยตัวเอง แต่เกิดจากคนรอบข้าง ซึ่งบางปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด อันนั้นคงเป็นเรื่องสุดวิสัย
แต่กับบางปัญหา หากเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็อาจจะพอประเมินถึงโอกาสที่จะเกิดปัญหานั้นได้ในอนาคตเหมือนกัน เช่น
- มีคนในครอบครัวเป็นหนี้ หรือมักจะมีปัญหาทางการเงิน และเรามักจะไม่สามารถทนดูดายปัญหาของพ่อแม่ญาติพี่น้องได้ ทำให้อาจจะต้องมีการช่วยเหลือ หรือให้หยิบยืมเกิดขึ้น ทำให้มีโอกาสที่เงินสำรองที่เราเตรียมไว้ในระดับปกติ (เช่น 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนเฉพาะของตัวเราเอง) นั้นไม่เพียงพอ ซึ่งอาจต้องมีการเตรียมเพิ่มเผื่อเอาไว้ล่วงหน้า
- หรือกรณีที่คุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น และไม่สามารถทำประกันสุขภาพใดๆ เพิ่มได้อีกแล้ว ทำให้เราซึ่งเป็นลูก (โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกคนเดียว) อาจจะต้องเผื่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลพ่อแม่ไว้ด้วย มิเช่นนั้นหากคุณพ่อคุณแม่เกิดเจ็บป่วยหนัก แล้วเราต้องออกค่ารักษาให้โดยที่ไม่ได้เตรียมการมาก่อน ก็อาจจะทำให้แผนเกษียณของเราล้มเหลวไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น
10. ตัวของผู้รับคำปรึกษา มีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะกระทบกับแผนการเงินหรือไม่ ?
ท้ายที่สุดแล้ว ความเสี่ยงที่จะทำให้แผนการเงินไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ บางครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของผู้รับคำปรึกษาเสียเอง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาหลายด้าน ทั้งจากลักษณะนิสัย แนวคิด ทัศนคติ วิถีชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบทำ ว่ามีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อแผนการเงินหรือไม่ เช่น
- ที่ทำงานมีสวัสดิการ (ค่ารักษาพยาบาลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ดีอยู่แล้ว และไม่มีความต้องการจะเปลี่ยนงาน แต่ตนเองกลับไม่ค่อยมีความสุขในการทำงาน ดังนั้น หากจู่ๆ เกิดตัดสินใจลาออกจากงานโดยไม่ทันคาดคิด ก็อาจจะทำให้สวัสดิการที่มีอยู่ที่เคยถูกนำมาใช้วางแผนอย่างดิบดี ต้องหายไป หรือมีปัญหาภาระภาษีเพิ่มขึ้น (จากการนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนกำหนด) ทำให้ต้องแก้แผนที่วางไว้กันยกใหญ่
- หรือ ผู้ที่เราวางแผนให้ ลึกๆ แล้วเป็นคนที่มีทัศนคติ หรือความเชื่อในการลงทุน ต่างจากแนวการทางลงทุนที่เราให้บริการ (ที่เน้นลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอระยะยาว โดยใช้กลยุทธ์ Asset Allocation กระจายความเสี่ยง) เช่น เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง อยากรู้ อยากลอง ไม่กลัวความเสี่ยง ก็อาจจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ (เช่น ในตราสารอนุพันธ์) โดยที่ไม่ได้แจ้งเราไว้ก่อนก็เป็นได้
แม้ทั้งสองกรณีอาจจะเป็นเหตุการณ์สุดวิสัย แต่หากพิจารณาผู้ที่เราวางแผนให้ให้ดีก็อาจจะพบสัญญาณเล็กๆ ให้เราพอจะเอะใจก่อนเกิดปัญหาได้ เช่น ในกรณีแรกเราอาจมีโอกาสได้กล่าวเตือนลูกค้าให้ระวังเรื่องการเปลี่ยนงาน หรือขอให้ปรึกษาเราก่อน อย่าเพิ่งหุนหันพลันแล่นเปลี่ยนงาน หรือในกรณีที่สอง หากศึกษากันให้เข้าใจเป็นอย่างดีก่อน ก็อาจจะมีการสื่อสารกันให้เข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ และหากยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ก็อาจจะวางแผนแบ่งเงินเพียงส่วนน้อยไปเก็งกำไร ทำให้หากขาดทุนหนักขึ้นมา จะได้ไม่เสียหายมาก
หวังว่าแนวทางทั้ง 10 ข้อข้างต้น จะเป็นประโยชน์และสามารถช่วยให้ผู้ที่ต้องการวางแผนการเงินให้กับตนเองหรือให้กับลูกค้า สามารถนำไปใช้เป็นหลักคิดก่อนจะวางแผนการเงินแบบองค์รวม เพื่อให้แผนที่ออกมามีความละเอียดรอบคอบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเงินที่ตั้งใจไว้ได้นะครับ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะวางแผนไว้อย่างรัดกุมแค่ไหนก็ตาม เราก็ควรกลับมาทบทวนแผนการเงินที่วางเอาไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ อย่างน้อยๆ ก็ปีละ 1 ครั้ง เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่ มีประเด็นสำคัญอะไรที่กระทบต่อแผนที่วางไว้ แล้วควรต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบันขึ้น เพราะอย่าลืมว่า ขึ้นชื่อว่าการวางแผนแล้ว ย่อมจะต้องมีความแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน
และการวางแผนการเงินไม่ใช่ “Event” ที่ทำเพียงครั้งเดียวจบ แต่เป็น “Process” ที่จะดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเองครับ