มนุษย์เงินเดือน… ประหยัดภาษีได้แค่ไหน
11/12/201710 ข้อควรพิจารณาสำหรับการวางแผนการเงินองค์รวมอย่างรัดกุม
21/12/2017ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่เคยได้ยินคำว่า นักวางแผนการเงิน อาจคิดว่า นักวางแผนการเงิน ต้องเป็นคนที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เรื่องความมั่งคั่ง เรื่องการลงทุน และคนที่จะใช้บริการนั้นก็ต้องมีเงิน ไม่มีภาระ ไม่มีหนี้สิน
แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?
ผมต้องบอกว่า จริง… แต่แค่บางส่วน ทำไมผมถึงบอกแบบนั้น ก่อนจะอธิบายต่อ ผมขออธิบายความหมายของ นักวางแผนการเงินในแบบฉบับของผมนะครับ
นักวางแผนการเงิน คือ ผู้ให้บริการหรือให้คำแนะนำในการวางแผนการเงิน ที่ครอบคลุมทุกๆ ด้านในชีวิตที่มีเรื่องเงินเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะร่วมทางและนำพาผู้รับคำปรึกษาไปให้ถึงยังเป้าหมายที่สำคัญกับชีวิตจริงๆ ซึ่งก็อาจจะมีทั้ง เป้าหมายที่ผู้รับคำปรึกษาต้องการ เช่น อยากซื้อบ้าน ราคา 5 ล้าน ใน 10 ปี ข้างหน้า และ เป้าหมายที่มาจากคำแนะนำของนักวางแผนการเงิน ซึ่งเห็นว่า ควรต้องวางแผนอื่นๆ เพิ่มควบคู่ไปด้วย เช่น ในระยะเวลาอีก 10 ปี ที่จะซื้อบ้าน ถ้าระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น ป่วยหนัก หรือ ตกงาน จะทำอย่างไร ควรจะต้องมีแผนป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้เพิ่มไหม เพื่อที่จะทำให้ผู้รับคำปรึกษาเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ อย่างสบายใจ และไม่ประมาท
กลับมาที่ข้อสงสัยข้างบน ที่ผมบอกว่าจริงบางส่วนก็เพราะ แน่นอนครับว่าบางเป้าหมายต้องใช้เงินเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ เช่น แผนซื้อบ้าน แผนการศึกษาต่อ ฯลฯ แต่ไม่ใช่ทุกแผนที่จำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งผมขออธิบายขยายความ ตามตัวอย่างด้านล่างนี้
ตัวอย่างที่ 1
สมมติว่า เรามีภาระเรื่องหนี้สินต่างๆ และต้องการคำแนะนำ เราสามารถใช้บริการนักวางแผนการเงินได้ไหม
คำตอบคือได้ครับ โดยนักวางแผนการเงินก็จะขออนุญาตเก็บข้อมูลต่างๆ จากลูกค้าก่อน จากนั้นก็จะวางแผนและให้คำแนะนำ เช่น
- แผนการชำระหนี้ หนี้สินส่วนไหนต้องรีบจัดการก่อน หนี้สินส่วนไหนขอแค่เรามีวินัยผ่อนชำระขั้นต่ำทุกเดือนก็เพียงพอแล้ว
- รายรับที่มีอยู่เพียงพอไหม ควรจะหารายได้เสริมหรือปรับเปลี่ยนงานหรือไม่
- ต้องลดรายจ่ายบางอย่างลงหรือไม่ และรายจ่ายที่น่าจะพอลดได้คืออะไรบ้าง
- ปรับเปลี่ยนเป้าหมายบางอย่างได้หรือไม่ เช่น เดิมตั้งเป้าท่องเที่ยวต่างประเทศ ปีละ 2 ครั้ง ปรับเปลี่ยนเป็น ปีละ 1 ครั้งได้ไหม หรือเป้าบางอย่าง หากเป็นการเพิ่มภาระมากเกินไป เช่น การซื้อมือถือใหม่ หากเครื่องเดิมยังพอใช้งานได้ นักวางแผนการเงินอาจขออนุญาตแนะนำให้ชะลอไปก่อน เป็นต้น
ตัวอย่างที่ 2
สมมติว่า เราต้องการวางแผนการเงินเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งก็ถือว่าเป็นแผนที่มีความจำเป็นลำดับต้นๆ เช่น กรณีเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือประสบกับโรคภัยต่างๆ อยากรู้ว่าจำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มไหม
นักวางแผนการเงินก็จะช่วยดูว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ ของเรา เช่น สวัสดิการจากที่ทำงาน ประกันสังคม อายุ ความเสี่ยงของอาชีพและวิถีชีวิต ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร ความคุ้มครองต่างๆ ที่มีเพียงพอไหม หากนักวางแผนการเงินพิจารณาดูแล้วว่าไม่พอ ควรจะต้องพิจารณาจัดหาสวัสดิการเพิ่มเติม แต่กระแสเงินสด ณ ตอนนี้ ก็ไม่พอจะทำอีกเช่นกัน กรณีนี้ นักวางแผนการเงินก็อาจให้คำแนะนำว่า
จากข้อมูลที่ลูกค้าให้มา ผมพิจารณาดูแล้ว พบว่าคุณลูกค้ามีความจำเป็นที่ต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มครับ แต่เนื่องจาก กระแสเงินสด ณ ตอนนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าทำเพิ่มอาจจะกระทบกับเป้าหมายอื่นๆ ตามไปด้วย ประกอบกับคุณลูกค้ามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลบางส่วนจากบริษัทที่พอจะช่วยตรงนี้ได้บ้าง เวลานี้ผมจึงยังไม่แนะนำให้ทำประกันเพิ่มครับ แต่ระหว่างนี้ คุณลูกค้าเองต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง มีสติ ไม่ประมาท หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลงได้บ้างนะครับ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณลูกค้ามีความพร้อมเรื่องเงิน และยังคงเห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม เราค่อยกลับมาพิจารณากันอีกครั้งนะครับ
จากทั้ง 2 ตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าคำแนะนำที่นักวางแผนการเงินให้ ยังไม่ได้มีการใช้เงินเลย แต่ก็จะมีเรื่องเงินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการใช้บริการนักวางแผนการเงิน จึงไม่ใช่เรื่องของคนมีเงิน หรือต้องใช้เงินในการ Take Action เสมอไป เพียงแต่ในอนาคต เมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ต้องใช้เงินเข้ามาอยู่ในบางแผนของเราเช่นกัน
เช่น ถ้าต้องซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ภายใน 10 ปี ตรงส่วนนี้นักวางแผนการเงินก็จะช่วยแนะนำถึงความเหมาะสม เช่น ค่าดาวน์บ้านควรมีเท่าไร ควรจะนำเงินไปลงทุนหรือออมที่ไหนดี การผ่อนชำระต่อเดือน หนักเกินไปไหมเมื่อเทียบกับรายรับของเรา ระยะเวลาในการกู้เหมาะสมไหม รวมถึงความจำเป็นในการซื้อบ้านด้วยว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่จำเป็นกว่าและควรพิจารณาก่อนหรือไม่
เห็นไหมครับว่า นักวางแผนการเงินนั้นนอกจากจะวางแผนการเงินเพื่อที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการแล้ว ยังคอยช่วยเราคิด ช่วยพิจารณา คอยเตือนในเรื่องที่ต้องระวัง รวมถึงยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ระหว่างนักวางแผนการเงินกับผู้รับคำปรึกษาได้อีกด้วย
เป้าหมายบางเป้านั้น อาจจะใช้เวลาเดินทางที่ยาวนาน อาจจะต้องมีการแนะนำไปตลอดทั้งเส้นทาง แต่สิ่งๆ หนึ่งที่ผู้รับการวางแผนการเงินจะได้รับ กลับไปอย่างแน่นอน นั่นคือ การได้เพื่อนที่ดีอีก 1 คน เข้ามาในชีวิตของเราครับ อาจจะเป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมคิด เพื่อนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต เพื่อนที่อาจจะชอบอะไรเหมือนๆ กันก็ได้
สำหรับตัวผมเอง ได้วางแผนการเงินให้ลูกค้ามาแล้วประมาณ 30 ราย ในระยะเวลาเกือบปี ผมพบว่า ผมเองก็ได้สิ่งดีๆ หลายอย่าง จากลูกค้าเช่นกัน ทั้งแนวคิดในการใช้ชีวิต ความรู้ ทักษะของลูกค้าแต่ละราย และลูกค้าบางราย ก็ทำให้ผม ได้เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงในบางเรื่องจากการพูดคุยกัน เช่น เรื่องการศึกษาของลูก
เพราะอะไรเขาถึงอยากให้ลูกเรียนสถานที่ดีๆ แพงๆ ตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งที่บางทีผมมองว่าอาจไม่จำเป็นขนาดนั้น
แต่พอได้พูดคุย ผมถึงเข้าใจและยอมรับเหตุผลในความคิดของเขา มันทำให้ผมอยากจะเข้าไปช่วยลูกค้าในเรื่องนี้บ้าง อย่างน้อยก็เพื่อแบ่งเบาภาระของลูกค้า แม้ว่าตัวผมเองยังไม่มีลูก ไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ แต่ก็อยากจะทำครับ ถือว่าได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วย
นั่นคือการแสดงบทบาทเป็นคุณพ่อลูกอ่อน โทรไปสอบถามค่าเรียน ค่าใช้จ่าย ในโรงเรียนต่างๆ รวมถึงรายละเอียดด้านอื่นๆ ของโรงเรียน เช่น จำนวนห้องต่อชั้นเรียน จำนวนนักเรียนต่อห้อง จำนวนคุณครูต่อชั้นเรียน อาจจะดูเหมือนง่ายๆ ไม่มีอะไรนะครับ ก็แค่โทรถาม ใช่ครับง่ายถ้าแค่ถามแล้วปลายทางมีหน้าที่ตอบกลับ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะมันมีคำถามจากปลายทางที่ถามผมกลับมาเกี่ยวกับเด็กเช่นกัน เจอบางคำถาม ผมไปไม่เป็นเลยครับ อึ้ง… เงียบไปสักพัก ต้องบ่ายเบี่ยงบางคำถาม
ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมแอบคิดว่า สงสัยต้องรีบวางแผนการเงิน เพื่อมีลูกของตัวเองบ้างซะแล้ว