ลงทุนทันทีหรือควรทยอย… ทำไมคำนวณแล้วได้ค่าแปลกๆ
27/08/2017ทำไมเราจึงควรวางแผนการเงินแบบองค์รวม ?
08/09/2017งานที่ผมชอบและอยากทำมากที่สุด ในฐานะของนักวางแผนการเงิน คือ “การวางแผนเกษียณ”
จำได้ว่าตอนเรียนปริญญาเอกที่เยอรมัน วันนั้นทำงานเสร็จผมก็ไปซื้อของตามปรกติ ผมกำลังเข้าแถวจ่ายตังค์ที่ร้าน REWE ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้กับมหาวิทยาลัย ผู้หญิงคนนึงกำลังยืนจ่ายเงินเป็นคนแรก ตามมาด้วยคุณยายคนหนึ่งอายุประมาณ 75 ปี ส่วนผมเป็นคนที่ 3 ที่รออยู่เช่นกัน
ในขณะที่ผู้หญิงคนแรกล้วงกระเป๋าเพื่อจะนำเงินมาจ่ายนั้น เหรียญ 1 เซนต์ (ประมาณ 40 สตางค์) ก็หล่นออกจากกระเป๋าของเธอโดยที่เธอไม่รู้ตัว เช่นนั้นแล้วผมในฐานะคนไทยน้ำใจงาม จึงตัดสินใจจะเผยอปากบอกหล่อนว่า “เงินหล่น” และแล้วเหตุการณ์ที่คอยหลอกหลอนและเป็นบทเรียนชั้นยอดในชีวิตผมก็เกิดขึ้น
ผมสังเกตเห็นว่าคุณยายที่ยืนอยู่หน้าผมท่านหันซ้ายหันขวา ดูท่าทางหลุกหลิกพิกล ทันใดนั้นท่านก็เอาเท้าข้างนึง ไปเหยียบที่เหรียญ 1 เซนต์ ที่ผู้หญิงด้านหน้าทำหล่นไว้ แล้วก็ยืนรอจ่ายเงินตามปกติ จนผู้หญิงคนแรกรับของแล้วจากไป คุณยายจึงก้มเก็บเหรียญ 1 เซ็นต์นั้นขึ้นมา
ภายในเสี้ยววินาที ผมประมวลข้อมูลทั้งหมด ความคิดที่เกิดขึ้นในหัว มันทิ่มแทงไปสู่ความกลัวชั้นในสุดของผม
“1 เซนต์ มันมีความหมายกับคุณยายมากไหม”
“แล้วถ้าผมแก่ขึ้นตอนนั้นไม่มีงานทำแล้ว ผมจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าวกิน”
“แล้วผมจะเป็นแบบคุณยายท่านนั้นไหม”
นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้คิดเรื่องนี้ บ้านผมก็ไม่ได้มีที่ดินอะไรติดตัว จะปลูกข้าวกินเองตอนนั้นก็คงไม่ได้ จะหวังพึ่งลูกหลานตอนแก่ ก็เห็นตัวอย่างในชีวิตจริงมาแล้ว ว่าเอาแค่ลูกหลานไม่ต้องเป็นภาระเราตอนแก่ก็ดีถมไปแล้ว
เหลือเชื่อที่เพียงเสี้ยวนาที ความคิดเยอะแยะมากมายสามารถเกิดขึ้นได้ในสมองของคนหนึ่งคน “นี่ขนาดผมอยู่ในประเทศที่นับว่าเจริญแล้ว” ซึ่งเกือบทุกคนต้องวางแผนเกษียณผ่านนโยบายภาคบังคับของรัฐฯ แล้วที่ไทยเราละ ?
โชคดีสุดๆ ที่พ่อแม่ ผมเป็นข้าราชการ อย่างน้อยพวกท่านก็มีรัฐฯ ช่วยดูแล แล้วคนอีกค่อนประเทศ เขาจะอยู่กันยังไง พีระมิดสัดส่วนของผู้สูงวัยในไทยกำลังกลับหัว เด็กเกิดใหม่น้อยลง คนทำงานน้อยลง คนสูงอายุมากขึ้น แล้วทีนี้จะอยู่กันแบบไหน ในเมื่อรัฐฯ เก็บภาษีจากคนในวัยทำงาน (ซึ่งกำลังลดลง) มาอุดหนุนคนในวัยเกษียณ (ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้น) แล้วมันจะพอมั๊ย ผมยังไม่อยากออกรายการ “วงเวียนชีวิต” นะ
แม้ว่าผมจะไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของคุณยายท่านนั้น ซึ่งอาจจะต่างจากที่ผมเดาโดยสิ้นเชิง แต่ครั้งนั้นก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่จำแม่นในหัวใจ ทำให้ผมเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้ เพราะรู้ว่าการจะเกษียณได้อย่างมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ใครอยากรู้ว่ามากขนาดไหน ก็แค่ลองคิดว่าจากวันที่ไม่มีรายได้จนถึงวันสุดท้ายในชีวิตต้องใช้เงินกี่บาทคูณเงินเฟ้อเข้าไปด้วย แล้วจะตาเหลือกเหมือนที่ผมเป็นมาแล้ว
ผมเริ่มวางแผนให้พี่ๆ ญาติๆ และเพื่อนๆ บางทีก็โดนว่ามาบ้างว่า คิดมาก คิดอะไรตั้งแต่อายุเท่านี้ บางทีก็โดนหัวเราะใส่ แต่เรื่องอะไรเราจะหยุด เพราะอย่างน้อยจะมีอีกตั้งหลายคนที่อาจรอดเพราะได้ตระหนักรู้แล้ว ว่าต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ
วันนี้ภาครัฐฯ เริ่มออกนโยบายมาอย่างจริงจังเรื่องสังคมผู้สูงอายุ รัฐฯ กำลังจะบังคับให้มี กบช. กองทุนบำนาญแห่งชาติ (หรือเรียกอย่างง่ายว่าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ) ซึ่งผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเลย เพราะถ้าไม่บังคับ แล้วนั่งภาวนาให้ระบบการศึกษาช่วย ภาวนาให้คนมีความรู้ทางการเงินขึ้นมาเองนี้ คงยากเกิน เอกชนเองก็เล็งเห็นถึงโอกาสครั้งนี้ เราจึงเริ่มเห็นโครงการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ออกมาเพื่อผู้สูงอายุมากมาย
คำพูดที่ดูตลกแต่ยังจริง ที่ผมจำไว้สอนเด็ก ๆ เสมอคือถ้าวันนี้เรามีทางเลือกให้เลือกอยู่ 2 ทาง จงเลือกมา 1 ทางจากประโยคต่อไปนี้
- น่าเสียดาย ตายไปใช้เงินไม่หมด
- น่าสลด ใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตาย
เราจะเลือกประโยคไหน ?
ปล. หลายท่านคงสงสัยว่าคนอายุ 70-80 ในเยอรมัน ยังออกนอกบ้านมาจ่ายตลาดคนเดียวอีกหรือ คำตอบคือใช่ สังคมที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มวัยพร้อมด้วยวัฒนธรรมที่ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวใหญ่เมื่อลูกหลานโตแล้ว เป็นแบบนั้น และผมก็เชื่อว่าสังคมไทยมีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น เวลาวางแผนเกษียณจึงต้องวางแผนในแบบที่จะพึ่งพาลูกหลานให้น้อยที่สุด ถ้าลูกหลานเลี้ยงนั้นถือเป็นกำไร แต่ถ้าเขาไม่เลี้ยงเราก็จะไม่ลำบากใคร