ประกันสุขภาพจำเป็นต้องมีหรือไม่ ?
05/08/2017วางแผนถอนเงินใช้หลังเกษียณ… อย่างไรดี ?
13/08/2017สายโทรศัพท์จากเพื่อนท่านหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันนาน
เพื่อน : เฮ้ยไอหลา สบายดีไหม… มีสองพันมั้ย พอดีดันซวยว่ะ จำเป็นต้อง… ว่ะ เด๋ยวสิ้นเดือนคืนให้
ผม: เออ โอเค -*-
ท่านเคยถูกเพื่อนยืมเงินไหมครับ มันเป็นเรื่องปกติของคนครับ การยืมเงินใครสักคนเป็นความรู้สึกที่อึดอัดพอสมควร ถ้าไม่จำเป็นเราคงไม่อยากยืมเงินใคร แต่ปัญหาคือ รถที่ร้อยวันพันปีไม่เคยชนอะไรเลย พอประกันหมดสองวันเท่านั้นล่ะ ชนเลย เราผิดด้วย ไม่ก็จอดรถอยู่หน้าบ้าน ล็อคอย่างดี ตื่นเช้ามาน้ำท่วมเละยันข้างในรถ แถมประกันที่ทำไว้ก็ดันเป็นประกันชั้น 3 ซึ่งไม่คุ้มครองกรณีน้ำท่วมอีก (ใครคิดว่าไม่จริง ท่านลองมาจอดรถแถวซอยชินเขต งามวงศ์วาน ช่วงฤดูฝนดูนะครับ)
เชื่อเถอะครับ ความโชคไม่ดี (ความซวย) นั้น มาเยือนเราได้เสมอ โดยเฉพาะตอนที่เราไม่พร้อมเนี่ย
ดังนั้นหนึ่งในความพร้อม ที่เราทุกคนควรจะเตรียมตัว และเตรียมให้เร็วที่สุด คือ เงินสำรองฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่มี แปลว่าเรามีโอกาสสร้างหนี้ได้ทุกเมื่อ ดีหน่อยก็ติดหนี้เพื่อน ญาติพี่น้อง แย่หน่อย ก็ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หนี้นอกระบบ เรียกว่าไม่ต้องคิดถึงเป้าหมายทางการเงินการลงทุนอื่นเลย ต่อให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงๆ เช่น หุ้นไทย ในระยะยาวนั้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10–12% ต่อปี แต่เจอหนี้บัตรกดเงินสดดอกเบี้ย 18–24% ต่อปีเข้าไป ยังไงก็สู้ไม่ไหว!
เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินอย่างไรดี
1. ตั้งเป้าหมาย
อันดับแรก ต้องตั้งเป้าหมายจะมีเงินก้อนนี้ เงินฉุกเฉินควรถูกใช้ตอนฉุกเฉิน ไม่ใช่ตอนมือถือรุ่นใหม่กล้องคู่ ชิพเสียงเทพเปิดตัว หรือตอนตั๋วไปญี่ปุ่นลดราคา เพราะเราไม่รู้ว่า วันรุ่งขึ้นหลังซื้อมือถือหรือซื้อตั๋วไป เราจะเจอเหตุฉุกเฉินอะไรไหม
2. สบายใจ ไม่มีตายตัว แต่ต้องมากพอ
มีเยอะไปก็อาจไม่ค่อยดี เพราะเสียโอกาสการลงทุน แต่มีน้อยไปก็จะไม่พอใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งขึ้นกับระยะเวลาที่เราจะพ้นภาวะฉุกเฉินนั้น ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าพรุ่งนี้ตกงาน เราต้องใช้เวลาหางานกี่เดือน (อย่าลืมบวกไปอีก 1 เดือน เพราะเมื่อเริ่มงานที่ใหม่ก็ยังไม่ได้เงินเดือนทันที ต้องรอสิ้นเดือนก่อน) แล้วช่วงเวลานี้ จะมี รายจ่ายจำเป็น เท่าไร เช่น เรามีรายจ่ายต่อเดือน 25,000 บาท เป็นค่า กิน ใช้ เดินทาง ผ่อนคอนโด รวม 20,000 บาท เป็นค่า สันทนาการ บันเทิง ฟิตเนส ปาร์ตี้ 5,000 บาท เราอาจจะเริ่มมีเงินสำรองที่ 20,000 x 3 = 60,000 บาท เป็นต้น เพราะในภาวะฉุกเฉิน พวกรายจ่ายบันเทิงต่างๆ ก็อาจจะงดไปก่อนได้
ตามทฤษฎีคือควรมีพอใช้ประมาณ 3–6 เดือน แต่ถ้าเราเป็น Freelance รายรับไม่แน่นอน อาจจะเตรียมไว้สัก 12 เดือนก็ได้ หรือถ้าไม่สบายใจ กลัวสงคราม กลัวภัยพิบัติ อาจจะมีเก็บสำรองไว้ใช้ถึง 2 ปีก็ได้
3. ถอนมาใช้ง่าย
ต้องถอนมาใช้ง่าย เงื่อนไขน้อย เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนผมนัดกินเลี้ยงกันตอนสัปดาห์สิ้นเดือนก่อนเงินเดือนออก ผมนี่ถึงกับไม่มีตังค์ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีนะ แต่เราดันเก็บไว้ในสหกรณ์ของบริษัทหมด (ออมก่อนใช้) แล้วเดือนนั้นใช้เงินเยอะพอดี ซึ่งการจะถอนเงินในสหกรณ์มาใช้ จะต้องปิดบัญชีเอาเงินออกมาหมด และใช้เวลาหลายวัน โชคดีที่เหตุต้องใช้เงินไม่ใช่เรื่องจำเป็นและไม่ได้ใช้เงินเยอะ แต่ก็พอทำให้เห็นว่า เราต้องมีเงินที่ถอนมาใช้ได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องให้ผลตอบแทนสูงก็ได้ ถ้าเป็นตัวเลือกยุคปัจจุบันก็อาจเป็นบัญชีออมทรัพย์พิเศษเช่น ME by TMB หรือ Thanachart E-Saving เป็นต้น
4. ครอบคลุม
ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว ครอบครัว ธุรกิจ อสังหา เงินฉุกเฉินอาจจะมีหลายระดับ ระดับแรกคือเงินฉุกเฉิน ที่เอาตัวเองอยู่รอดได้ก่อน ส่วนถ้าเรามีครอบครัว มีคนที่ยังพึ่งพิงเรา เช่น มีพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ เราก็ต้องเตรียมเงินสำรองที่พอใช้ทั้งครอบครัว ต่อจากนั้น ถ้าเรามีความเสี่ยงอย่างอื่น ที่อาจจะย้อนมากระทบการเงินส่วนบุคคลเราได้ เช่น มีธุรกิจ หรือมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ที่เราเองก็ยังต้องผ่อน เราก็ควรมีเงินสำรองเผื่อไว้จ่ายค่างวดของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่านั้นด้วย (อาจจะประมาณ 6–12 เดือน ขึ้นอยู่กับคุณภาพผู้เช่าของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ)
5. มีเธอเสมอ
เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น จำเป็นต้องดึงก้อนนี้ไปใช้ แปลว่าเรามีหน้าที่กลับมาเติมเงินก้อนนี้ให้เต็มเหมือนเดิม อย่าลืมเป็นอันขาด
6. เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เมื่อเราเริ่มวางแผนเงินฉุกเฉิน ซึ่งมักเป็นเป้าหมายทางการเงินเป้าหมายแรก เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยน จากคนโสด เป็นมีครอบครัว จากไม่มีลูกเป็นมีลูก จากลูก 1 คน เป็น 2 คน จากที่พ่อแม่ยังมีรายได้เป็นพ่อแม่เกษียณต้องพึ่งพิงเงินจากเรา และ ยังมีสารพัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เราจึงควรประเมินเงินสำรองก้อนนี้ใหม่เป็นระยะ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับความจำเป็น
เริ่มวันนี้!
หลายท่านอาจจะมีเงินเก็บอยู่แล้ว แต่กองรวมที่เดียวกันหมด ใช้จ่ายทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น จากเงินก้อนนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะคำนวณและแบ่งเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินออกมาแยกไว้ต่างหาก โดยไม่แตะมันถ้าไม่จำเป็น
ส่วนใครที่ยังไม่มีเงินเก็บ ใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ นี่จะเป็นเป้าหมายทางการเงินเป้าหมายแรกที่ท่าน “จำเป็นต้องมี” นะครับ