คิดสักนิด… ก่อนจะซื้อรถสักคัน
13/06/2017วางแผนการเงิน… เริ่มต้นที่ไหนดี
14/07/2017บทความนี้ เรียบเรียงจากอีเมล์ตอบกลับคำถามของพี่ท่านหนึ่ง…
พี่ครับ
เกี่ยวกับคำถามของพี่ว่า “ควรจะซื้อกองทุน LTF กองไหนดี ?” นั้น ถือว่าเป็นคำถามยอดฮิตติดดาวแดงของทุกสำนักเลยนะครับ
ในมุมมองของผม ขอแนะนำอย่างนี้นะครับ อาจจะยาว และดูน่าลำไย ไปซักหน่อย แต่ก็ด้วยความหวังดี ผมอยากให้พี่ลองพิจารณาตามผมไปทีละ Step ดังนี้ครับ
Step 1 : เช็คดูให้แน่ว่าเสียภาษี หรือ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ?
เนื่องจาก LTF หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว นั้น เป็นกองทุนที่ให้สิทธิ์พิเศษในการนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็แลกมาด้วย ข้อจำกัด คือ
- สินทรัพย์ที่ลงทุน : LTF ถูกกำหนดให้ลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ของเงินลงทุน
- ระยะเวลาการถือครอง : ต้องถือครองให้ครบ 7 ปีปฏิทิน จึงจะขายเอาเงินออกมาได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไขทางภาษี
ดังนั้น ถ้าพี่ไม่มีภาระภาษีที่ต้องเสีย หรือ ไม่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ LTF ให้ไปติดข้อจำกัดสองข้อข้างต้น พี่ไปซื้อกองทุนรวมปกติดีกว่า เพราะก็มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกันกับ LTF ให้เลือกลงทุน หรือถ้าพี่อยากลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นต่างประเทศ ทองคำ ฯลฯ ก็มีให้เลือกมากกว่าด้วย
Step 2: เช็คสุขภาพทางการเงินของพี่ก่อนนะครับ
เนื่องจาก LTF เป็นการลงทุนที่มีข้อจำกัดว่าถอนเงินออกมากลางทางไม่ได้ ดังนั้น ขอให้พี่มั่นใจว่ามีสภาพคล่อง และเงินสดสำรองเพียงพอ (อย่างน้อยๆ ประมาณ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือน) และถ้าจะดีขึ้นอีกคือ ถ้ามีความคุ้มครองชีวิต และสุขภาพที่เพียงพอกับความจำเป็น และ/หรือ ความต้องการของพี่แล้ว จะโดยการซื้อประกันไว้ หรือ จะ Self-insure (คือเก็บเงินสำรองไว้เอง) ก็แล้วแต่ครับ
Step 3 : เป้าหมายของเงินก้อนนี้ของพี่คืออะไร สำคัญขนาดไหน ?
เงินก้อนนี้ตั้งใจเก็บไปเพื่ออะไร มีความสำคัญขนาดไหน ถ้าถึงเวลาต้องใช้ แล้วมันไม่เป็นไปตามแผน เช่น ผลตอบแทนติดลบอยู่ จะขยายเวลาออกไปได้ไหม หรือถ้ามันสำคัญจริงๆ ประเภทที่เสียหายไม่ได้เลย บางทีอาจต้องยอมไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่าแทนเป็นต้นครับ
Step 4 : ระยะเวลาลงทุนของพี่กี่ปีครับ ?
เพราะถ้าน้อยกว่า 5 ปี ก็ Bye Bye LTF ได้เลย เพราะเกณฑ์ทางภาษี ระบุให้ถือลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน (ถ้าจะลงทุนสั้นที่สุด เพื่อให้ขายออกได้เร็วที่สุด ก็ต้องซื้อปลายปีที่ 1 ขายต้นปีที่ 7 ซึ่งก็ยังใช้เวลา 5 ปีนิดๆ อยู่ดี) อีกทั้ง ถ้าพี่จะลงทุนในกองทุนหุ้น แต่มีเวลาน้อยกว่า 5 ปี ผมเองก็ไม่แนะนำอยู่ดีครับ เพราะเสี่ยงเกินไป อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเผื่อเวลาสัก 7 ปีเต็มๆ ก็จะโอเคกว่า และอันที่จริง ถ้าพี่จะลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวๆ เช่นเป้าเกษียณ พี่ก็สามารถถือ LTF ต่อไปได้เรื่อยๆ จนเมื่อใกล้เกษียณ ค่อยขายออกเพื่อลดความเสี่ยงก็ยังได้ครับ
Step 5 : พี่รับความเสี่ยงระหว่างทางได้ขนาดไหนครับ ?
เวลาที่ภาวะตลาดหุ้น หรือ เศรษฐกิจมันไม่เป็นใจ ผลตอบแทนระหว่างทางติดลบขนาดไหน พี่จะยังชิวๆ กินอิ่ม นอนหลับได้อย่างปกติสุขครับ ?
ที่ผมใช้คำว่า “ระหว่างทาง” เพราะว่าแม้ปกติผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนในกองทุนหุ้นล้วนๆ สำหรับระยะเวลาการลงทุนยาวๆ (7 – 10 ปีขึ้นไป) จะพอคาดหวังได้ที่ประมาณ 10% ต่อปี แต่ระหว่างทาง มันสามารถผันผวน -10%, -20% ได้เป็นเรื่องปกติ และหากเกิดวิกฤติ อาจลงแรงได้ถึง -40% เลยนะครับ
ซึ่งถ้าพี่รับความผันผวนข้างต้นไม่ไหว แต่ยังต้องการลงทุน LTF อยู่ อาจต้องพิจารณากอง LTF ประเภท 70/30 ครับ เพราะกองทุนจะคุมสัดส่วนหุ้นไว้เฉลี่ยที่ประมาณ 70% และตราสารหนี้ 30% ซึ่งก็พอจะลดความผันผวนระหว่างทางได้บ้าง (แม้ไม่เยอะ) แต่ก็ต้องแลกกับผลตอบแทนระยะยาวที่ลดลงด้วยเช่นกันนะครับ
Step 6 : มาเลือก Style การลงทุนกัน!!
Passive หรือ Active (เชิงรับ หรือ เชิงรุก)
ถ้าพี่ไม่อยากคิดอะไรให้ซับซ้อนมากนัก และมองว่าผลตอบแทนแบบปกติๆ ธรรมดาๆ ของตลาดหุ้น (เฉลี่ยในระยะยาวปีละประมาณ 10%) ก็น่าพอใจแล้ว ก็เลือกกองแบบ Passive Fund หรือ Index Fund ที่มีชื่อไทยว่ากองทุนรวมดัชนีได้เลย
กองประเภทนี้ จะเลือกดัชนีหนึ่งขึ้นมาเป็นเกณฑ์ เช่นดัชนี SET50 (หุ้นใหญ่ 50 ตัว ของตลาดหุ้นไทย) แล้วลงทุนหุ้นนั้นเลียนแบบดัชนีไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา พี่ก็จะได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตลาดไปตลอด ซึ่งมีข้อดี คือ ค่าธรรมเนียมถูก แต่ข้อเสีย คือ พี่ก็จะไม่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดนะครับ
ตัวอย่างกอง LTF กลุ่มนี้ ที่น่าสนใจคือกอง KS50LTF ของ บลจ. กสิกรไทย เพราะค่าธรรมเนียมต่ำสุด (ณ ปัจจุบันที่ผมเขียนบทความ) รองลงมาก็เป็นกอง KFLTF50 ของ บลจ.กรุงศรี
แต่ถ้าพี่ต้องการมากกว่านั้น คือ อยากได้ผลตอบแทนที่มันสูงกว่าตลาด ก็ต้องเลือกกองประเภท Active Fund เพราะกองประเภทนี้ จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดให้ได้ เช่น จับจังหวะการลงทุน เข้าซื้อหุ้นที่ประเมินมูลค่า แล้วว่าต่ำกว่าที่มันควรจะเป็น แล้วไปขายออกตอนที่มันกำไรดีๆ ฯลฯ ซึ่งข้อดีคือ มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด และสูงกว่ากอง Passive แต่ข้อเสียก็คือ มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดเช่นกัน ถ้า ผู้จัดการกองทุนตัดสินใจผิด แถมกองกลุ่มนี้ มักมีค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า Passive Fund ค่อนข้างมาก เพราะถือว่าผู้จัดการกองทุนต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการบริหาร
กอง Active ยังแบ่ง Style การลงทุนได้อีก ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าพี่ชอบแนวหุ้นใหญ่ ผมว่า 1SG-LTF ของ บลจ.วรรณ, MV-LTF ของ MFC, และ B-LTF ของบัวหลวง ก็น่าสนใจครับ เป็นกลุ่มที่ผลตอบแทนย้อนหลังดีสม่ำเสมอ
- ถ้าพี่ชอบแนวหุ้นเล็กจี๊ดจ๊าด พวก Mid-Small Cap ผมว่ากอง KMSLTF ของ บลจ. กสิกรไทย ก็น่าสนใจครับ แม้จะออกกองมาไม่นานแต่ผลตอบแทนก็ดีโดดเด่น อย่างไรก็ตาม กองพวกที่ลงในหุ้นเล็กแบบนี้มีความผันผวนสูงกว่ากองหุ้นใหญ่มากนะครับ โปรดระมัดระวัง Brace for IMPACT ระหว่างทางด้วย
- ถ้าพี่อยากได้เงินปันผลระหว่างทาง โดยไม่ต้องรอถึง 7 ปีปฏิทิน กอง PHATRA LTFD ของ บลจ. ภัทร ก็เป็นตัวเลือกที่น่าพิจารณาครับ
ในบรรดากองที่ยกตัวอย่างไปทั้งหมด เป็นเพียงความเห็นของผม ณ วันที่เขียนบทความนี้เท่านั้น โปรดอย่าเพิ่งเชื่อตามนี้ครับ รบกวนพิจารณาหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วยตนเองด้วย หรือจะปรึกษากับทีม Avenger Planner พวกเราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้บริการครับ