คิดสักนิด… ก่อนจะซื้อรถสักคัน
13/06/2017คำว่า ประกันชีวิต สำหรับวัยรุ่นหรือคนที่อายุยังน้อย อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับคนวัยทำงานที่มีอาชีพ มีรายได้ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่างๆ ประกันชีวิตถือว่าเป็นเรื่องไม่ไกลตัวเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เรามักจะถามผู้ขายว่ามีการรับประกันสินค้าไหม รับประกันกี่ปี นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่าสินค้าพวกนี้มีราคาสูง หากเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้วต้องมีการซ่อม ค่าใช้จ่ายอาจจะสูง แต่ถ้าสินค้าชิ้นนั้นมีการรับประกัน ก็จะสร้างความสบายใจให้กับเราตรงส่วนนี้ได้
ซึ่งประกันส่วนใหญ่ที่เรามักคุ้นเคยและต้องทำ ก็คือการทำประกันรถยนต์นั่นเอง จะเห็นว่าเรามักทำหรือต้องการประกันในสินค้าที่มีราคาแพง แต่เราทุกคนมักจะละเลยการทำประกันกับสิ่งๆ หนึ่งที่มีมูลค่าสูงไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “การทำประกันชีวิต“ สำหรับตัวของเราเอง
ผมขออนุญาตสมมตินะครับว่า ปกติเรามีรายได้จำนวนหนึ่งที่ได้มาจากการทำงาน ซึ่งรายได้จำนวนนี้ต้องนำมาเลี้ยงดูครอบครัวของเรา ต้องจ่ายภาระหนี้สินต่างๆ และถ้าเกิดเราเสียชีวิตกระทันหัน รายได้ตรงส่วนนี้ก็จะหายไป ปัญหาที่ตามมาก็คือ รายได้ที่ต้องนำมาเลี้ยงดูครอบครัว ต้องจ่ายภาระหนี้สินต่างๆ ก็จะไม่มี ซึ่งแน่นอน คนที่ต้องเดือดร้อนก็คือคนข้างหลังเราหรือคนที่เรารัก เช่น พ่อแม่ ภรรยา ลูก เพราะขาดรายได้จากเรา รวมทั้งอาจจะต้องรับภาระหนี้สินที่เราก่อขึ้นตอนยังมีชีวิตอยู่อีกด้วย
แน่นอนครับการทำประกันคงไม่สามารถช่วยให้เราฟื้นคืนชีพได้ แต่การทำประกันนั้นจะช่วยให้ได้เงินชดเชยแก่คนข้างหลัง ซึ่งก็คือคนที่เรารักและห่วงใย ทำให้พวกเขา มีเงินจำนวนหนึ่งไปจ่ายภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นตอนเรายังมีชีวิตอยู่ได้ และยังทำให้เขามีรายได้ส่วนหนึ่งสำหรับการใช้จ่ายดูแลตัวเองและครอบครัวได้ในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นวันนี้ผมอยากชวนทุกคน ลองคิดดูสักนิดว่า แล้วตัวเราควรมีมูลค่าอย่างน้อยเท่าไร ที่เราควรทำประกันให้กับตัวเรา และให้ประกันทำหน้าที่ในการปกป้องคนที่เรารัก ให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาหรือภาระเรื่องเงิน
ทุนประกันหมายถึงจำนวนเงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเมื่อตัวเราเสียชีวิต เช่น เราทำประกันไว้ที่ทุนประกัน 1 ล้านบาท ถ้าเกิดเราเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงิน 1 ล้านบาท สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ตัวทุนประกันนี่ละครับ ว่าเราควรจะทำที่เท่าไรดี 5 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาท หรือ 2 ล้านบาท ?
การที่จะรู้ว่าเราควรทำประกันด้วยทุนประกันเท่าไร เราต้องรู้ 3 อย่างครับ จึงจะสามารถคำนวณหาทุนประกันที่เหมาะสมของแต่ละคนได้ (ผมย้ำนะครับว่าเหมาะสมของแต่ละคน ดังนั้นทุนประกันของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน) 3 อย่างที่ต้องรู้นั้น ได้แก่
- ภาระหนี้สินต่างๆ เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต เงินกู้ต่างๆ ณ ปัจจุบัน มีหนี้เหลือรวมกันทั้งหมดเท่าไร
- เงินส่งเสียครอบครัว เช่น เงินให้พ่อแม่ ให้สามี ภรรยา ให้ค่าเลี้ยงดูลูก รวมๆ เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราส่งเสียครอบครัวอยู่กี่บาท และอาจจะคิดเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า หลังจากที่เราไม่อยู่แล้ว เราวางแผนที่จะเตรียมเงินนี้ไว้ส่งเสียครอบครัวอีกสักกี่ปี
- สินทรัพย์ที่เรามีอยู่ปัจจุบัน หากขายออกมา จะมีมูลค่ากี่บาท ทั้งนี้รวมถึงความคุ้มครองจากประกันชีวิต และสวัสดิการต่างๆ ที่เรามีอยู่ก่อนหน้าด้วยนะครับ
พอเราได้ข้อมูลทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว ทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับเราก็จะเท่ากับ …
เช่น ปัจจุบัน นาย B
- มี ภาระหนี้สินต่างๆ คือ หนี้บ้าน หนี้รถ เงินกู้ รวมทั้งหมด 1,000,000 บาท
- ต้องการเตรียม เงินส่งเสียครอบครัวต่อเดือน 10,000 บาท และ วางแผนที่จะส่งเสียครอบครัวไปอีก 5 ปี ในกรณีที่เกิดเสียชีวิต ดังนั้นเงินส่งเสียครอบครัวทั้งหมดเท่ากับ 10,000 x 12 เดือน x 5 ปี = 600,000 บาท
- สินทรัพย์ที่มีอยู่ปัจจุบัน มีเงินฝาก 300,000 บาท ทองคำมูลค่า 100,000 บาท และประกันชีวิตที่ทำไว้แล้ว 100,000 บาท รวม 500,000 บาท
ซึ่งจะคำนวณได้ว่า ทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับนาย B คือ 1,000,000 + 600,000 – 500,000 = 1,100,000 บาท
ดังนั้นถ้านาย B ต้องการทำประกันชีวิต เพื่อปกป้องคนรักของเขา นาย B ควรต้องทำประกัน ให้มีทุนประกันตั้งต้นที่ประมาณ 1,100,000 บาท
นี่ก็เป็นตัวอย่างในการคำนวณหาทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับเราด้วยวิธีง่ายๆ นะครับ จริงๆ แล้วทุนประกันที่เหมาะสมอาจเพิ่มหรือลดลงได้ เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป โดยหากเราจัดการเงินทองได้อย่างเหมาะสม แนวโน้มความต้องการทุนประกันก็มักจะลดลง เพราะหนี้สินต่างๆ ก็จะถูกชำระคืนให้ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ขณะเดียวกันสินทรัพย์ต่างๆ ของเราก็ควรจะเพิ่มพูนขึ้นไปด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่าการทำประกันนั้น ไม่ใช่ว่าทำไปเฉยๆ ทำตัดรำคาญ หรือทำเอาไว้เพียงเพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่การประทำกันหมายถึงความรับผิดชอบ และความรักที่เราแสดงออกมา อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ในรูปของความคุ้มครองที่เป็นมูลค่าเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อให้คนครอบครัวและคนที่เรารักสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยไม่มีเรานั่นเอง